เมื่อพูดถึงไมเกรน ผู้อ่านทุกท่านคงทราบว่าเป็นโรคปวดศีรษะชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยมาก โดยประชากรทั่วไปในสหรัฐอเมริกาถึงร้อยละ 8.6 ในเพศชาย และร้อยละ 17.5 ในเพศหญิงเป็นโรคนี้ ตัวเลขในประเทศไทยก็คงไม่ต่างกันนัก ที่น่าแปลกใจกว่านั้นคือ โรคนี้พบในเด็กด้วย แต่จะพบมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยวัยที่พบมากที่สุดคือวัยรุ่นและวัยทำงานนั่นเอง
ลักษณะสำคัญของโรคปวดศีรษะชนิดนี้คือ อาการปวดที่เกิดขึ้นมักมีความรุนแรงปานกลางถึงมาก ผู้ป่วยจึงมักได้รับผลกระทบจากโรคไม่มากก็น้อย เนื่องจากมีอาการปวดซ้ำๆ เป็นครั้งคราว ครั้งละหลายชั่วโมงหรือเป็นวัน อาจเป็นปีละไม่กี่ครั้ง จนถึงหลายครั้งต่อสัปดาห์ โดยอาการปวดหัวอาจจะเป็นข้างเดียว เป็นสลับข้าง หรือปวดทั้งสองข้างก็ได้ อาการร่วมที่พบบ่อยก็อย่างเช่น คลื่นไส้ อาเจียน ตาสู้แสงไม่ได้ ต้องหลีกเลี่ยงแสงจ้าหรือเสียงดัง บางรายอาจมีอาการเตือน เช่น ตาพร่า เห็นแสงวูบวาบหรือแสงกระพริบ ซึ่งอาการเตือนนี้มักเป็นไม่นานแล้วตามด้วยอาการปวดศีรษะข้างต้น และเนื่องจากโรคนี้มีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศหญิง จึงทำให้ผู้หญิงหลายคนเป็นโรคนี้ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ก่อนจะดีขึ้นหลังหมดระดู
การปวดศีรษะไมเกรนในช่วงแรกอาจเป็นพียงครั้งคราว และไม่รุนแรง แต่ในบางรายจะมีอาการปวดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น จนเรียกได้ว่าเป็นโรคไมเกรนเรื้อรัง ซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิต การทำงาน และการเข้าสังคมมาก ในยุโรปมีการประมาณว่า ผู้ป่วยไมเกรนแต่ละรายมีค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อมประมาณ 50,000 บาทต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่ต้องหยุดงานหรือทำงานได้ไม่เต็มที่ ส่วนด้านค่ารักษาโรคโดยตรงกลับเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่ามาก
จะรับมืออย่างไร จึงจะลดผลกระทบจากโรคนี้ให้ได้มากที่สุด
วิธีใช้ยาให้ได้ผล
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ทราบว่าอาการปวดที่เกิดขึ้นมีลักษณะอย่างไร เช่น บางรายมีอาการเตือนก่อนปวด มักมีอาการปวดที่ขมับ รอบตา ร้าวไปที่ต้นคอ ฯลฯ บางครั้งปวดน้อย บางครั้งปวดมาก การปวดแต่ละครั้งมักเกิดขึ้นหลายชั่วโมงถึงเป็นวัน เป็นๆ หายๆ หรือมีอาการปวดติดๆ กันหลายวัน ซึ่งการทราบถึงรูปแบบของการปวดนี้จะช่วยให้ทั้งผู้ป่วยและแพทย์เลือกยาบรรเทาปวดที่เหมาะสม
ในยุคเดิมๆ (หรือจนกระทั่งปัจจุบัน) ทั้งแพทย์และผู้ป่วยมักเริ่มใช้ยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์อ่อนก่อน เช่น พาราเซตามอล ไม่ว่าการปวดจะแรงแค่ไหน หากไม่ได้ผลจึงจะใช้ยาที่แรงขึ้น เช่น เออร์โกตามีน (ชื่อการค้าว่า คาเฟอร์กอต) หรือยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (เช่นไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน) ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้จะทำให้หายปวดได้ช้า ผู้ป่วยมักต้องทนทุกข์ทรมานกับการปวดหลายชั่วโมง หรือเป็นวัน หรืออาจต้องไปฉีดยาที่โรงพยาบาล
ดังนั้นแนวโน้มการใช้ยาแก้ปวดในยุคใหม่จึงมักให้ผู้ป่วยเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะใช้ยาใดที่เหมาะสมกับการปวดแต่ละครั้ง คือให้ผู้ป่วย “เลือกได้” นั่นเอง แพทย์จึงสั่งยาแก้ปวดให้หลายชนิด เพื่อให้ผู้ป่วยเลือกได้ใช้ตามความเหมาะสม เพื่อจะได้หายปวดเร็วที่สุด ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่มีอาการเตือนแล้วมักปวดรุนแรง จะให้เลือกใช้ยาแก้ปวดที่ออกฤทธิ์เร็ว เช่น ไอบูโพรเฟน เออร์โกตามีน หรือยากลุ่มทริปแทน หากผู้ป่วยคิดว่าปวดไม่แรงแต่จะปวดนานหรือปวดซ้ำได้ในวันต่อๆ ไป จะแนะนำให้ใช้ยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ที่ออกฤทธิ์ยาว เช่น นาพรอกเซน การกระทำเช่นนี้ จะทำให้การตอบสนองต่อการรักษาดีขึ้น หยุดปวดได้เร็ว และกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม คงต้องปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกยาและทราบคำแนะนำในการใช้ก่อน
เทคนิคอีกอย่างที่อยากแนะนำคือ การใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน เช่น เมโทโคลพราไมด์ หรือดอมเพริโดน คู่ไปกับยาแก้ปวดได้เลย เพื่อลดอาการผะอืดผะอม คลื่นไส้ อาเจียนที่มักมาพร้อมกับอาการปวด ยากลุ่มนี้จะทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวได้ดีขึ้น ยาแก้ปวดจะดูดซึมได้ดีและเร็วขึ้นด้วย
สำหรับในรายที่ปวดบ่อยเกินกว่าสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง หรือปวดรุนแรงจนใช้ยาข้างต้นไม่ค่อยได้ผล อยากแนะนำไปให้พบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ใจว่าไม่ใช่โรคอื่น และพิจารณาให้ยาป้องกันไมเกรนที่ต้องรับประทานยาทุกวันไปช่วงหนึ่ง ซึ่งยาเหล่านี้มีหลายชนิดและจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้
ปฏิบัติตัวอย่างไรให้ไกลไมเกรน
- มองหาปัจจัยกระตุ้นและหลีกเลี่ยงการปวด เช่น หากมีอาการไวต่อน้ำหอมหรือกลิ่นบางชนิด คงต้องเลี่ยงการใช้หรืออยู่ห่างจากปัจจัยนั้นๆ ส่วนผู้ที่ไวต่อความร้อน ความเย็น แสงจ้า แสงกระพริบ โดยเฉพาะในกลุ่มสาวออฟฟิศทั้งหลายที่มักปวดศีรษะหลังการเข้าๆ ออกๆ ที่ทำงานช่วงกลางวัน คงต้องใช้แว่นกันแดดหรือระวังอากาศที่เปลี่ยนแปลงกะทันหัน ควรพักสายตาเป็นระยะๆ ในช่วงที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
- เลี่ยงอาหารบางชนิด เช่น ไวน์ อาหารหมักดอง ช็อกโกแลต ผงชูรส อาหารที่ใส่สารกันบูด ผู้ป่วยแต่ละคนจะไวต่ออาหารไม่เหมือนกัน จึงต้องสังเกตตัวเองดู โดยบางรายก็ไม่มีอาการจากการกระตุ้นแบบนี้ก็เป็นได้ครับ ส่วนการบริโภคแอลกอฮอล์จะกระตุ้นไมเกรนได้ในช่วงตื่นนอนเช้าวันรุ่งขึ้น
- ปรับชีวิตให้เป็นตารางเวลาที่แน่นอน เช่น เข้านอนตรงเวลาและตื่นนอนให้เป็นเวลาทุกวัน (ไม่เว้นวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ ฯลฯ) และหลับอย่างเพียงพอ นาฬิกาในร่างกายของเราจะได้ทำงานไม่รวน บางคนมักปวดตั้งแต่ตื่นนอน ซึ่งคงต้องเข้มงวดกับเรื่องเหล่านี้เพิ่มคือ การรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้อ และตรงเวลา อย่าปล่อยให้หิวมากหรืออิ่มมากเกินไป เพราะระดับน้ำตาลในเลือดที่ต่ำก็กระตุ้นไมเกรนได้เช่นกัน
- จดบันทึกอาการปวดที่เกิดขึ้น หรือที่เรียกว่า ไดอะรี่ของการปวดศีรษะ เช่น ปวดวันไหนบ้าง ช่วงเวลากี่โมง ปวดแรงแค่ไหน คลื่นไส้อาเจียนหรือไม่ และใช้ยาอะไรไปบ้าง ควรจดการปวดแต่ละครั้งให้ละเอียด และอย่าลืมนำไดอะรี่นี้ไปพบแพทย์ด้วยนะครับ จะได้เลือกการรักษาให้ตรงกับตัวเราจริงๆ
- ออกกำลังกายและผ่อนคลายตนเอง การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ระบบต่างๆ รวมถึงสมองทำงานได้ดี ฮอร์โมนเป็นปกติ และลดความถี่ของการปวดได้ หากปวดขึ้นมาอาจใช้ยาร่วมกับเทคนิคการผ่อนคลายจิตใจ หย่อนกล้ามเนื้อ หลับตาพัก หายใจเข้าออกยาวๆ และหลบจากปัจจัยกระตุ้น เช่น แสงจ้า เสียงดัง จะช่วยได้
- ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาอื่น โดยเฉพาะยาคุมกำเนิด ถ้ายังจำเป็นต้องใช้อยู่คงต้องปรึกษาแพทย์และเลือกยาคุมกำเนิดชนิดที่มีขนาดของเอสโตรเจนต่ำๆ หรือหากเป็นไปได้อาจพิจารณาใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น เช่น ใส่ห่วงคุมกำเนิด ใช้ถุงยางอนามัย นอกจากนี้ยาบางชนิดอาจเป็นสาเหตุหรือกระตุ้นให้ไมเกรนกำเริบได้ เช่น ยากลุ่มวิตามินเอ (isotretinion) ที่ใช้บำบัดรักษาสิว ยาโรคหัวใจ เช่น ไนเตรท ยาขยายหลอดเลือด ยาแก้ปวดที่ใช้เป็นเวลานานและต่อเนื่องสามารถทำให้กลายเป็นโรคปวดไมเกรนเรื้อรังหรือโรคปวดศีรษะจากการใช้ยาเกินได้
- อาหารเสริมและวิตามินเสริม ผู้ป่วยบางรายอาจลองใช้วิตามินบีสอง แมกนีเซียมเสริม ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าจะช่วยป้องกันการปวดศีรษะซ้ำได้บ้าง แต่ควรระวังการใช้วิตามินในขนาดสูง เช่น วิตามินบี1 บี6 บี12 ขนาดสูง หรือใช้วิตามินเอเป็นเวลานาน เพราะอาจสะสมและเป็นพิษต่อร่างกายได้
ผู้ที่อยู่ร่วมกับผู้ป่วยไมเกรนไม่ว่าจะเป็นคู่ครอง เพื่อนร่วมงาน ญาติ ให้เข้าใจและช่วยดูแลผู้ป่วยไมเกรนด้วย เช่น พยายามช่วยงานผู้ป่วย และให้ผู้ป่วยได้พักในสถานที่ที่เงียบ มีแสงน้อย ในเวลาปวด หรือเลี่ยงการพูดคุยเรื่องที่ไม่สบายใจ เพื่อลดความเครียดขณะที่ปวด หลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอม สเปรย์ ยาดับกลิ่น ฯลฯ
ที่มา...HealthToday