สงสัยกันบ้างไหมคะ ว่าเดี๋ยวนี้ทำไมคนเรามักตัดสินปัญหาความรักด้วยความรุนแรง ความรักเป็นความสุขหรือความทุกข์ขึ้นอยู่กับว่าเราคิดหรือมองความรักอย่างไร เพื่อไม่ให้ความรักเป็นความทุกข์กลับมาทำลายตัวเราเองและคนรอบข้าง
ความรัก ควรจะเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเองและคนที่เรารักมีความสุขด้วย ส่วนใหญ่ที่คนเรามีปัญหา อาจเพราะเรารักเขา แต่เขาไม่รักเรา จึงไปทำให้เขาหรือตัวเราเป็นทุกข์ ซึ่งทางจิตวิทยามองว่า ความรัก ที่ดีต่อสุขภาพ หรือถูกสุขภาพจิตนั้น ควรเริ่มจากการรู้จักรักตัวเองเสียก่อน
“หลายคนมักจะมองว่า การรักตัวเอง คือ การเห็นแก่ตัว หลงตัวเอง ไม่สนใจคนอื่น แท้จริงแล้วหากรู้จักรักตัวเองอย่างพอเพียง จะเห็นถึงคุณค่าของตัวเอง ความรู้สึกโหยหาความรักจากผู้อื่นก็จะมีอิทธิพลน้อยลง”
อีกประเด็นที่มักพบเห็นอยู่บ่อยครั้งคือ ส่วนใหญ่เข้าใจว่าความรักต้องเกาะติด อยู่ไม่ได้ถ้าขาดอีกคน เป็นเหมือนความรัก สไตล์คลาสสิกทั้งหลาย เช่น โรมิโอ&จูเลียต หรือสะพานรักสารสิน ที่หากไม่มีเธอ ฉันต้องขาดใจตาย ถือว่าเป็นความรักที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เพราะหากอีกฝ่ายไม่ยั่งยืนหรือแม้ไม่คิดจะทอดทิ้งแต่ต้องจากไปด้วยกาลเวลา แล้วจะทำอย่างไร
นอกจากนี้หากมองในแง่ที่ว่า คนเราเมื่อรักกันได้ ก็ย่อมเบื่อหน่ายจืดจางได้เช่นกัน หรือกระทั่งยามที่อีกฝ่ายจำเป็นต้องไปทำงาน ไปทำภารกิจส่วนตัวจนต้องห่างกันสักระยะ ถ้าอีกคนไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ เพราะหวังให้อีกคนเป็นผู้ให้ความสุขทั้งหมด ย่อมจะต้องทุกข์เป็นประจำ ส่วนคนที่ถูกพึ่งพิงเกาะติดก็จะรู้สึกอึดอัด เบื่อหน่าย หากต่างฝ่ายรู้จักสร้างความสุขด้วยตัวเองได้ด้วย เช่น ทำงานอดิเรก คบเพื่อน ก็จะช่วยให้สัมพันธภาพดีขึ้น
แต่ก่อนที่ความทุกข์อันเกิดจากความรักจะรุมเร้า วันนี้เรามี 9 วิธี
“รัก” อย่างไร ไม่เป็นทุกข์
1. ควรมีความสุขได้ด้วยตัวเอง คนอื่นเป็นเพียงโบนัสที่เพิ่มเข้ามา
2. ควรปรารถนาให้ผู้อื่นเกิดสุขด้วย ไม่ใช่คิดถึงแต่ความสุขของเรา เช่น เมื่อคนที่เรารักไม่รักเรา แต่เขามีความสุขของเขา แม้เราจะเศร้าก็ยังคิดได้ว่า อย่างน้อยก็ได้เห็นคนที่เรารักมีความสุข
3. ลดความคาดหวัง แม้เราจะเป็นปุถุชนซึ่งคงตัดความคาดหวังไม่ได้ แต่ถ้าเรายิ่ง
คาดหวังจากอีกฝ่ายน้อย โอกาสที่เราจะสมหวังก็ยิ่งมากขึ้น
4. ยอมรับความแตกต่าง ทั้งด้านสรีระและความคิดของผู้อื่น ความคิดไม่ตรงกันนั้น ถือเป็นเรื่องธรรมชาติ หากฝ่ายหนึ่งไม่พยายามทำให้อีกฝ่ายคิดเหมือนกัน และพยายามเข้าใจว่าเหตุใดจึงคิดต่างกัน ปัญหาก็จะไม่เกิด หากเข้าใจและยอมรับได้แล้ว เมื่อเห็นเขาทำตัวไม่ถูกใจ ไม่น่ารัก ขี้บ่น ใจร้อน เราก็จะปรับตัวให้เข้ากับเขาและมอบความรักให้ได้ง่ายขึ้น
5. รู้จักยอมรับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ความรัก จึงจะยืนยาว เพราะความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดาของโลก เพลงโปรด ฟังซ้ำ อาหารจานประจำ กินบ่อยก็เบื่อ ความรักที่เคยจี๋จ๋าหวานแหวว อาจจืดจางลง แต่ยังคงความผูกพันและสัมพันธ์อันดี หรือแม้จะเลิกราร้างห่าง บางคู่ก็ยังเป็นเพื่อนรู้ใจต่อกันได้
6. ไม่ควรทำแต่สิ่งที่ตัวเองชอบ หรือสิ่งที่ตนคิดว่าดีให้คนอื่นเพียงอย่างเดียว จะต้องมองถึงความต้องการของเขาด้วย จะได้ไม่ต้องมาน้อยใจว่าเราอุตสาห์หวังดี ยอมเหน็ดเหนื่อยทำเพื่อเขา แต่เขากลับไม่เห็นคุณค่า
7. ความเกรงใจ เป็นองค์ประกอบสำคัญ ควรเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพราะคนใกล้ชิดสนิทกัน มักคิดว่าจะสามารถทำอะไรตามใจตัวได้แทบทุกเรื่อง จนลืมนึกถึงความรู้สึกของอีกคนไป
8. พูดจาชื่นชมในสิ่งดีของกันและกัน เป็นอีกหนึ่งวิธีมอบความรักที่ควรทำ บางคนละเลยว่าอยู่ด้วยกันมานาน เรื่องดีเขาคงรู้อยู่แล้วไม่ต้องชม จึงเอาแต่พูดถึงสิ่งไม่ดีหรืออยากให้อีกฝ่ายเปลี่ยนแปลง เอาแต่บ่นโดยไม่เคยชม คนฟังก็ท้อใจเหมือนกัน
9. การแสดงออกของความรัก ถ้ารักแล้วไม่แสดงออกเลยอีกฝ่ายคงไม่รู้ เพราะเขาไม่มีตาทิพย์แต่การแสดงความรู้สึกแค่ไหน อย่างไร คงต้องดูว่าเป็นสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการด้วย ส่วนความต้องการของเราก็ควรบอกตรงๆ ไม่ใช่คาดหวังให้คู่ของเราเป็นหมอดู คอยเดาใจ
และถ้าจะรักให้ดีต่อสุขภาพจิต ทุกคนควรคิดให้ความรักเป็นดอกไม้สวยงาม เป็นของหวานสำหรับชีวิต อย่ายึดติดว่าเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง อย่าคิดว่า “รัก” เป็นข้าวปลาอาหารหรืออากาศที่ขาดไม่ได้
“อยากให้คนที่มีทุกข์เพราะรักคิดด้วยว่า ก่อนที่จะมาเจอคนรัก ยังมีพ่อแม่พี่น้องเพื่อนพ้อง และคนอื่นอีกมากมายที่เรารักและรักเรา อย่าให้คนเพียงคนเดียวเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ตามข่าว เช่น เมื่ออีกฝ่ายขอเลิก ก็มีการบุกไปยิงหรือทำร้ายร่างกาย กระทั่งฆ่าตัวตาย กลายเป็นโศกนาฏกรรมแสนเศร้าของคนที่อยู่ข้างหลัง”
สรุปการจะรักใคร ควรรักอย่างมีสติ ไม่ทุ่มเทจนหมดตัว และควรเผื่อใจให้กับตัวเอง ครอบครัว และเพื่อน เพราะหากเกิดพลาดพลั้ง ครอบครัวและคนใกล้ชิดมีส่วนสำคัญที่จะเยียวยาหรือเตือนสติไม่ให้ผู้ผิดหวังในความรักกระทำเรื่องที่จะเสียใจในอนาคตได้
"เท่านี้คุณก็มีความรัก ที่ดีต่อสุขภาพได้แล้วค่ะ"