วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร หรือ วัดพระธาตุดอยสุเทพ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่อีกวัดหนึ่ง เป็นศาสนสถานที่มีความเกี่ยวข้องกับเมืองเชียงใหม่ ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ความผูกพันด้านจิตใจ เป็นวัดที่ถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มากวัดหนึ่งของไทย มีผู้คนจากทั่วสารทิศมานมัสการพระธาตุดอยสุเทพกันไม่ขาดสาย วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ตั้งอยู่บนยอดดอยสุเทพห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 14 กิโลเมตร อยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,053 เมตร ในเขตตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร
องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงเชียงแสน ฐานสูงย่อมุมระฆังทรงแปดเหลี่ยม ลานเจดีย์เป็นจุดชมทิวทัศน์เมืองเชียงใหม่ ทางขึ้นเป็นบันไดนาคเจ็ดเศียรก่อปูน
อุโบสถวัดพระธาตุดอยสุเทพ สร้างขึ้นในสมัยพระเมืองเกษเกล้ามี พระประธานเป็นพระพุทธรูปศิลปเชียงแสน ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเททองหล่อในคราวเสด็จนมัสการพระบรมธาตุสุเทพ เมื่อวันมาฆบูชา ที่ 1 มีนาคม 2501
วิหารพระพฤหัส เป็นวิหารอยู่ด้านทิศเหนือของพระบรมธาตุ ด้านในประกอบด้วยพระประธาน พระพุทธชินราช รูปเหมือนครูบาศรีววิชัย และพระพุทธรูปอีกหลายองค์ ด้านฝาผนังของวิหาร มีภาพเขียนเรื่องราวตำนานพระธาตุดอยสุเทพ
ศาลาบาตรอยู่ รอบองค์พระบรมธาตุ เป็นศาลาสำหรับการใช้สำหรับพิธีทำบุญตักบาตร โดยพิธีทำบุญทางล้านนาในวันศีล (วันพระ) พระภิกษุสงฆ์จะนำเอาบาตรมาวางเรียงลำดับในศาลา เพื่อให้ญาติโยมนำเอาข้าวปลาอาหารมาใส่ในบาตร
วิหารพระเจ้ากือนา เป็นวิหารไม้สักทั้งหลัง รูปแบบลักษณะคล้ายวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ มีขนาดกว้าง 8 วา ยาว 12 วา เพื่อเป็นราชานุสรณ์และกตัญญูกตเวทิตธรรม แด่พระเจ้ากือนาพร้อมด้วยพระมหาสุมนเถระ พระผู้อัญเชิญพระบรมธาตุประดิษฐานบนหลังพญาช้างขึ้นมาถึงยอดสุเทวบรรพต และก่อเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุอันเป็นปฐมเหตุให้สถานที่แห่งนี้เจริญรุ่งเรืองตราบเท่าทุกวันนี้
ดอยสุเทพ เดิมชื่อว่า “ดอยอ้อยช้าง” ส่วนชื่อดอยสุเทพที่เรียกกันในปัจจุบันนี้เป็นชื่อที่ได้มาจาก “พระฤาษีวาสุเทพ” ซึ่งเคยบำเพ็ญตบะอยู่ที่เขาลูกนี้เมื่อพันกว่าปีมาแล้ว วัดพระธาตุดอยสุเทพ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1929 ในสมัยพญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 8 แห่งอาณาจักรล้านนา ราชวงศ์เม็งราย พระองค์ทรงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ มาบรรจุไว้ที่นี่ ด้วยการทรงอธิษฐานเสี่ยงช้างมงคลเพื่อเสี่ยงทายสถานที่ประดิษฐาน พอช้างมงคลเดินมาถึงยอดดอยสุเทพ มันก็ร้องสามครั้ง พร้อมกับทำทักษิณาวัติสามรอบ แล้วล้มลง พระองค์จึงโปรดเกล้าฯให้ขุดดินลึก 8 ศอก กว้าง 6 วา 3 ศอก หาแท่นหินใหญ่ 6 แท่น มาวางเป็นรูปหีบใหญ่ในหลุม แล้วอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลงประดิษฐานไว้ จากนั้นถมด้วยหิน แล้วก่อพระเจดีย์สูง 5 วา ครอบบนนั้น ด้วยเหตุนี้จึงห้ามพุทธศาสนิกชนที่ไปนมัสการสวมรองเท้าใน บริเวณพระธาตุ และมิให้สตรีเข้าไปบริเวณนั้น ในปี พ.ศ. 2081 สมัยพระเมืองเกษเกล้า กษัตริย์องค์ที่ 12 ได้ทรงโปรดฯให้เสริมพระเจดีย์ให้สูงกว่าเดิม เป็นกว้าง 6 วา สูง 11 ศอก พร้อมทั้งให้ช่างนำทองคำทำเป็นรูปดอกบัวทองใส่บนยอดเจดีย์ และต่อมาเจ้าท้าวทรายคำ ราชโอรสได้ทรงให้ตีทองคำเป็นแผ่นติดที่พระบรมธาตุ
ในสมัยก่อน การขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพนั้น เป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก ไม่มีถนนเหมือนปัจจุบัน ทางเดินก็แคบๆ และ ไม่ราบเรียบ ต้องผ่านป่าเขาลำเนาไพร และปีนเขา ต้องใช้เวลายาวนานถึง 5ชั่วโมงกว่า จนมีคำกล่าวขานกันทั่วไปในสมัยนั้นว่า ถ้าไม่มีพลังบุญและศรัทธาเลื่อมใสจริงๆ ก็จะไม่มีโอกาสได้กราบไหว้พระธาตุดอยสุเทพ ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย มาจากวัดบ้านปาง จังหวัดลำพูน เป็นผู้เริ่มดำเนินการสร้างถนนขึ้นสู่พระธาตุดอยสุเทพ โดยมีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สมัยนั้น เป็นผู้เริ่มขุดดินด้วยจอบเป็นปฐมฤกษ์ ตรงที่หน้าสวนสัตว์เชียงใหม่ปัจจุบัน ใกล้ๆ กับบริเวณน้ำตกห้วยแก้ว โดยเริ่มสร้างวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 นับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มากที่การสร้าง ถนนบนภูเขายาวถึง 11 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 5 เดือนกับอีก 22 วัน ทั้งๆ ที่อุปกรณ์การสร้างทางมี เพียงจอบ และเสียม เท่านั้น พิธีเปิดใช้ถนนใหม่ได้เริ่มเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2478 โดยท่านครูบาศรีวิชัย เป็นคนแรกที่นั่งรถยนต์ขึ้นดอยสุเทพตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
การเดินทาง
เดินทางตาม ถนนห้วยแก้ว ผ่านอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ไปตามทางคดเคี้ยวขึ้นเขา ระหว่างทางจะมองเห็นตัวเมืองเชียงใหม่อยู่เบื้องล่าง ระยะทางจากเชิงดอยถึงวัดประมาณ 11 กิโลเมตร
กิจกรรมที่น่าสนใจในวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร
- นมัสการพระธาตุดอยสุเทพชม
- วิวเมืองเชียงใหม่จากยอดดอยสุเทพ
สิ่งน่าสนใจอื่นๆในวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร
- ต้นศรีมหาโพธิ์อินเดีย
- ศาลาบาตร
- พระอุโบสถวัดพระธาตุดอยสุเทพ
- วิหารพระพฤหัส
- วิหารพระเจ้ากือนา
ประเพณีที่น่าสนใจของวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร
งานประจำปีขึ้นดอยสุเทพ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันวิสาขบูชา ของทุกปี
ช่วงเวลาที่เหมาะสม สำหรับการมาท่องเที่ยววัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร
ตลอดทั้งปี
คำแนะนำในการท่องเที่ยว
พุทธศาสนิกชนที่ไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ ห้่ามสวมรองเท้าในบริเวณพระธาตุ และมิให้สตรีเข้าไปบริเวณนั้น เนื่องจากเชื่อกันว่ามีพระบรมสารีริกธาตุ ฝังอยู่ใต้องค์พระธาตุ