งานวิจัยที่ว่านี้เป็นผลงานของทีมงานชาวอเมริกันจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน นำโดยศาสตราจารย์อีธาน ครอสส์ รวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 82 คน ซึ่งใช้บริการเฟซบุ๊กบนสมาร์ทโฟนเป็นประจำ หลังจากนั้นทีมงานจะส่งข้อความทางเฟซบุ๊กไปยังคนกลุ่มนี้วันละ 5 ครั้งต่อเนื่องนาน 2 สัปดาห์ เพื่อสอบถามเกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึก ไม่ใช่การถามเกี่ยวกับความถี่ในการใช้บริการเฟซบุ๊กแต่อย่างใด
ผลที่ออกมาปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างแทบทุกคนมีความรู้สึกใน "ทางลบ" เช่นโดดเดี่ยว เศร้า และเหงาหงอยมากขึ้น ตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ร่วมการทดลอง แต่ในทางตรงกันข้าม การมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับบุคคลรอบข้างไม่ว่าจะเป็นการสนทนาต่อหน้า หรือการพูดคุยผ่านโทรศัพท์ในเวลานั้น ทำให้กลุ่มตัวอย่างมีความรู้สึกใน "ทางบวก" หรือมีความสุขมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทีมงานยืนยันว่า ผลการศึกษาดังกล่าวไม่ได้หมายความว่า การใช้เฟซบุ๊กจะเป็นการเพิ่มความรู้สึกที่มีต่อตัวเองในแง่ลบ เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างมีเพียง 82 คน ถือเป็นส่วนน้อย เช่นเดียวกับที่การใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์อื่นจะทำให้เกิดความรู้สึกแบบนี้หรือไม่ แต่ยอมรับว่า ผู้คนส่วนใหญ่ใช้เฟซบุ๊กเป็น "เครื่องระบาย" ความรู้สึกมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดความรู้สึกว้าเหว่