ยังไม่พบอันตรายที่ชัดเจนที่เกิดกับทารกในครรภ์ เมื่อคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ต้องเดินทางโดยยานพาหนะต่างๆ เพราะทารกที่อยู่ในครรภ์จะมีน้ำคร่ำอยู่ล้อมรอบตัว เป็นเสมือนเกราะกำบังให้ความปลอดภัยในระดับหนึ่ง
Q : ดิฉันตั้งครรภ์ได้ 3 เดือนกว่า ยังขับรถไปทำงานเองปกติค่ะ บางครั้งขับรถก็มีแรงกระแทกบ้าง กลัวว่าจะเป็นอันตรายกับลูก หรือแท้งได้ จึงอยากทราบว่าแรงกระแทกระดับไหนถึงจะเป็นอันตรายกับลูก กังวลค่ะ เพราะต้องขับรถไปทำงานเองทุกวันจะได้ระวังตัวเองมากขึ้นค่ะ
A : ปัจจุบัน คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ยังมีความจำเป็นต้องทำงานนอกบ้าน ซึ่งจะต้องมีการเดินทาง อาจจะเป็นการนั่งรถโดยสารประจำทาง แท็กซี่สาธารณะ รถส่วนตัว หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นต้น การเดินทางด้วยยานพาหนะต่างๆ ดังกล่าวนั้น พบว่ารถส่วนตัวมีความปลอดภัยและทำให้เกิดอันตรายต่อคุณแม่น้อยมาก เพราะคุณแม่สามารถปรับความเร็วและเส้นทางให้เหมาะสมในขณะเดินทางได้ แต่ถ้าคุณแม่ที่ต้องนั่งรถโดยสารประจำทาง แท็กซี่สาธารณะ หรือมอเตอร์ไซค์ อาจจะมีความเสี่ยงมากกว่า เพราะไม่สามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้เลย
อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบอันตรายที่ชัดเจนที่เกิดกับทารกในครรภ์ เมื่อคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ต้องมีการเดินทางโดยยานพาหนะต่างๆ เพราะทารกที่อยู่ในครรภ์ จะมีน้ำคร่ำอยู่ล้อมรอบตัว ซึ่งจะเป็นเสมือนเกราะกำบังให้ทารกมีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ ทารกในครรภ์ยังมีเกราะกำบังในชั้นถัดๆ มา ได้แก่ กล้ามเนื้อมดลูก กล้ามเนื้อผนังหน้าท้อง ลำไส้ กระดูกสันหลัง และกระดูกเชิงกรานของคุณแม่ด้วย แม้ว่าทารกในครรภ์จะได้รับแรงกระแทกในขณะเดินทาง ทารกก็จะมีน้ำคร่ำเป็นส่วนที่รับแรงกระแทก ซึ่งจะไม่มีผลโดยตรงต่อทารก เว้นเสียแต่ว่ามีอุบัติเหตุที่รุนแรง อาจจะเกิดอันตรายต่อทารกโดยตรงได้ เช่น การลอกตัวของรกก่อนกำหนด
ดังนั้น คุณลภัสรดาจะต้องมีความระมัดระวัง ไม่ขับรถด้วยความเร็วสูง เลือกขับรถบนถนนหรือเส้นทางที่ไม่ขุรขระ ไม่มีหลุมบ่อมาก ตรวจเช็กสภาพรถให้อยู่ในสภาพที่ดี คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง แรงกระแทกที่บริเวณผนังหน้าท้อง ที่เกิดจากการเดินทางเพียงเล็กน้อย ไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อทารกแต่อย่างใด คุณลภัสรดาจึงไม่ควรกังวลมากเกินไป และสามารถขับรถไปทำงานได้เองตลอดการตั้งครรภ์ ค่ะ