ก่อนฝนตก มักจะมีกระแสลมที่แรง ลมเหล่านี้ จะพัดให้ไวรัสให้ฟุ้งกระจายปริมาณมาก หากเราอยู่ในบริเวณนั้น ก่อนฝนตกโอกาสที่จะสัมผัสไวรัสในปริมาณมากก็มีมากขึ้น ดังนั้น พยายามอย่าอยู่ในที่โล่งแจ้งโดยเฉพาะเวลาก่อนฝนตกนะครับ หรือถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากปิดจมูก ในช่วงเวลานั้นก็ได้ครับ
หากเราตากฝน ศีรษะของเราก็จะเปียกฝน เชื้อโรคไม่ได้เข้าทางศีรษะนะครับ แต่การที่ศีรษะเปียกฝน จะมีผลทำให้อุณภูมิที่พื้นผิวของเยื่อบุจมูกลดต่ำลงประมาณ 1-2 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิระดับนี้ เหมาะสมสำหรับการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสที่ตกค้างอยู่ในช่องจมูก ประกอบกับการสัมผัสเชื้อไวรัสปริมาณมากช่วงก่อนฝนตก ก็เลยทำให้มีไวรัสจำนวนมากบริเวณเยื่อบุจมูก ภูมิต้านทานของร่างกาย จึงไม่อาจต้านทานเชื้อเหล่านี้ได้อีกต่อไป ก็เลยเกิดการอักเสบของเยื่อบุจมูก เกิดอาการบวมของเยื่อบุจมูก ทำให้คัดจมูก รวมทั้งเกิดการสร้างสารคัดหลั่งมากขึ้น ซึ่งก็คือน้ำมูก นั่นเอง หากเชื้อไวรัสลุกลามไปที่ลำคอ ก็จะทำให้เกิดคออักเสบตามมาได้
นอกจากศีรษะที่เปียกฝน ที่มีผลต่ออุณหภูมิในจมูกแล้ว อุณหภูมิบริเวณมือและเท้า ก็มีผลด้วยเช่นเดียวกัน การที่รองเท้าเราเปียกน้ำ และต้องแช่อยู่ในนั้นนานๆ ก็มีผลทำให้อุณภูมิในจมูกลดลง นำไปสู่อาการเป็นหวัดได้