เชื่อว่าเพื่อน ๆ ทุกคนคงคุ้นเคยกับการทำ "รายงาน" เป็นอย่างดี (อิอิ รู้หรอกน่า บางคนยังดองไว้เป็นสิบเล่มยังไม่ได้ทำเลยใช่ป่ะ) และเวลาทำรายงานทีไร เราก็มักจะเขียนเนื้อหา ทำสารบัญ พิมพ์หน้าปก ออกมาเสร็จเรียบร้อยสวยงามตามลำดับ แต่แม้ว่ารูปเล่มเหมือนจะเสร็จแล้วก็ยังส่งไม่ได้ เพราะติดปราการด่านสุดท้ายคือ เขียน "คำนำ" ไม่เป็น!!!
เอาล่ะสิ..."คำนำ" ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับรายงานทุกเล่ม เพราะคนอ่านรายงานจะได้รู้ว่า รายงานเล่มนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร เขียนขึ้นมาเพื่ออะไร ภาพรวมของรายงานเราคืออะไร ถ้าไม่มี "คำนำ" อาจารย์ส่งรายงานให้กลับมาแก้แน่ ๆ ว้า...แล้ว "คำนำ" ในรายงานเขาเขียนกันอย่างไรล่ะ (จะไปลอกใครก็ไม่ได้อีก) แต่ก็ไม่ต้องห่วงไปจ้ะ เพราะวันนี้ กระปุกดอทคอม รวบรวมแนวทางการเขียน "คำนำ" แบบง่าย ๆ มาฝาก อ่านแล้วก็ลองนำไปปรับใช้กันดูนะจ๊ะ (อย่าลอกไปทั้งดุ้นล่ะเดี๋ยวอาจารย์จับได้นะเออ)
สำหรับหลักการเขียนคำนำรายงานนั้น หลักง่าย ๆ เลยก็คือต้องเขียนให้ผู้อ่านสนใจอยากจะอ่านรายงานของเรา โดยเริ่มต้นอาจจะเขียนถึงที่มาที่ไปของรายงานฉบับนี้ จุดประสงค์และเหตุผลของการทำรายงานประเด็นนี้ หรือเรียกร้องถึงความสำคัญของประเด็นที่จะนำเสนอ บอกความเป็นมาคร่าว ๆ โดยอาจตั้งเป็นคำถามชวนให้ผู้อ่านคิด แล้วโยงเข้าสู่เรื่องที่เราอยากจะบอกก็ได้ ไม่ควรกว้าง หรือย้อนไปไกลมากจนเกินไป หรือวกวนจนจับประเด็นไม่ได้
ในส่วนของภาษาที่ใช้เขียนรายงานนั้น หากเป็นรายงานที่มีเนื้อหาทางวิชาการ ก็คงต้องภาษาทางการหน่อย แต่หากเป็นรายงานทั่ว ๆ ไป ไม่วิชาการมากนัก ก็ควรใช้ภาษาที่เป็นกันเองกับผู้อ่านจะดีกว่า
จากนั้น ในย่อหน้าถัดมา เราอาจจะกล่าวถึงรายงานของเราประกอบด้วยเนื้อหาอะไรบ้าง ดึงมาเฉพาะประเด็นที่น่าสนใจ เพื่อชักชวนให้ผู้อ่านติดตาม บอกขอบเขตคร่าว ๆ ที่ผู้อ่านจะได้รับจากรายงานฉบับนี้ หรือการทำวิจัยชิ้นนี้ หากเป็นรายงานส่งอาจารย์ ก็อาจปิดท้ายด้วยการกล่าวขอขอบคุณอาจารย์ ผู้ที่ร่วมทำรายงานฉบับนี้ให้เป็นรูปเล่มเสร็จสิ้น และพูดถึงว่า รายงานฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจ หรือใครก็ตามที่น่าจะได้รับประโยชน์จากรายงานของเรานั่นเอง
อ่อ...หลายคนอาจจะเคยเห็น หรือแม้กระทั่งเคยเขียนในรายงานด้วยซ้ำไปว่า "หากรายงานฉบับนี้มีข้อผิดพลาดประการใด คณะผู้จัดทำขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย" ซึ่งจริง ๆ อาจไม่จำเป็นต้องเขียนประโยคนี้ก็ได้นะจ๊ะ (เพราะอาจารย์หลายท่านมักเสนอแนะมาว่า รายงานของเราไม่ควรมีข้อบกพร่อง) แต่อาจจะเขียนว่า "หากมีข้อเสนอแนะประการใด ผู้จัดทำขอรับไว้ด้วยความขอบพระคุณยิ่ง" ก็น่าจะดีกว่าค่ะ เมื่อเขียนจบแล้วก็ลงชื่อผู้จัดทำปิดท้ายเท่านี้ก็ได้ "คำนำ" แปะหน้าแรกของรายงานแล้วล่ะจ้า
ว่าแล้วก็ขอสรุปอีกครั้งตามที่ราชบัณฑิตยสถาน ระบุไว้ว่า "คำนำที่ดีต้องมีลักษณะดังนี้"
1. เขียนคำนำด้วยคำพังเพย หรือสุภาษิตที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่อง
2. เขียนคำนำโดยการอธิบายความหมายของเรื่อง
3. เขียนคำนำโดยขึ้นต้นด้วยคำกล่าวของบุคคลสำคัญ
4. เขียนคำนำด้วยการเล่าเรื่อง
5. เขียนคำนำด้วยคำถามหรือปัญหาที่สนใจ
6. เขียนคำนำด้วยการอธิบายชื่อเรื่อง
7. เขียนคำนำด้วยคำกล่าวถึงจุดประสงค์ของเรื่องที่เขียน
8. เขียนคำนำด้วยการกล่าวถึงใจความสำคัญของเรื่องที่เขียน
คำนำที่ดีต้องเป็นความคิดใหม่ ความคิดแปลก หรือความคิดสนุก ต้องมีลักษณะนำ หรือเชิญชวนให้ผู้อ่าน อ่านเรื่องของเราให้จบให้ได้ คำนำจึงเป็นส่วนสำคัญในการเรียกร้องความสนใจของผู้อ่านตั้งแต่เริ่มต้นอ่านเรื่อง และดึงดูดใจให้อ่านเรื่องไปตลอด
สิ่งสำคัญที่ควรเลี่ยงในการเขียนคำนำ ได้แก่
1. ไม่ควรเอาประวัติศาสตร์ หรือเรื่องพื้น ๆ ที่รู้จักกันดีอยู่แล้วมาเขียนเป็นคำนำ
2. ไม่ควรอธิบายคำนำอย่างฟุ้งซ่าน จนไม่มีจุดหมายของเรื่อง
3. ไม่ควรขึ้นคำนำด้วยคำบอกเล่าอันเกินควร
4. ไม่ควรเขียนคำนำด้วยการออกตัว เช่น ออกตัวว่าไม่พร้อมหรือไม่เชี่ยวชาญเรื่องที่เขียน อาจทำให้ผู้อ่านไม่สนใจอ่านรายงานก็ได้
5. ไม่ควรเขียนซ้ำกับส่วนสรุป หรือความลงท้าย
6. ไม่ควรกล่าวถึงสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่อง
ตัวอย่างคำนำรายงาน 1
รายงาน/เอกสารคำสอน/สื่อ ฯลฯ ฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชา...ชั้นมัธยมศึกษาปีที่...โดยมีจุดประสงค์ เพื่อการศึกษาความรู้ที่ได้จากเรื่อง... ทั้งนี้ ในรายงานนี้มีเนื้อหาประกอบด้วยความรู้เกี่ยวกับ... ตลอดจนการประยุกต์ใช้...
ผู้จัดทำได้เลือกหัวข้อนี้ในการทำรายงาน เนื่องมาจากเป็นเรื่องที่น่าสนใจ รวมทั้งแสดงให้เห็นถึง... ผู้จัดทำต้องขอขอบคุณอาจารย์...ผู้ให้ความรู้ และแนวทางการศึกษา หวังว่ารายงานฉบับนี้จะให้ความรู้ และเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านทุก ๆ ท่าน หากมีข้อเสนอแนะประการใด ผู้จัดทำขอรับไว้ด้วยความขอบพระคุณยิ่ง
ลงชื่อ....
ผู้จัดทำ
ตัวอย่างคำนำรายงาน 2
รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อประกอบการเรียนวิชา... โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้จัดทำได้ฝึกการศึกษาค้นคว้า และนำสิ่งที่ได้ศึกษาค้นคว้ามาสร้างเป็นชิ้นงานเก็บไว้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนของตนเองและครูต่อไป
ทั้งนี้ เนื้อหาได้รวบรวมมาจากหนังสือแบบเรียน...และจากหนังสือคู่มือการเรียนอีกหลายเล่ม ขอขอบพระคุณอาจารย์...อย่างสูงที่กรุณาตรวจ ให้คำแนะนำเพื่อแก้ไข ให้ข้อเสนอแนะตลอดการทำงาน ผู้จัดทำหวังว่ารายงานฉบับนี้คงมีประโยชน์ต่อผู้ที่นำไปใช้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามความคาดหวัง
ลงชื่อ....
ผู้จัดทำ
อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างข้างต้นคือตัวอย่างของการเขียนคำนำรายงานส่งอาจารย์นะจ๊ะ ซึ่งหากใครจะเขียนคำนำของเอกสาร หรือหนังสือประเภทอื่น ๆ ก็สามารถนำเทคนิคดังกล่าวไปปรับใช้ในเรื่องของการเกริ่นนำ ภาษา และรูปแบบการเขียน เช่น การเปิดเรื่องด้วยบทกลอน บทร้อยกรอง สุภาษิตคำพังเพย คำคม ตั้งคำถามชวนคิดโยงเข้าเรื่อง หรือจะโน้มน้าวชักจูงให้ผู้อ่านคล้อยตาม เพื่อให้คำนำของเราเป็นคำนำที่เร้าความสนใจ และดึงดูดให้ผู้อ่านสนใจผลงานของเรานั่นเองค่ะ