การฝึกนิสัยการเข้านอนให้กับลูกน้อยตั้งแต่เล็กๆ
หลังการตั้งครรภ์ จนคุณแม่คลอดลูกน้อยออกมา คุณอาจรู้สึกว่าตัวเองนอนหลับตอนกลางคืนได้ไม่สนิทนัก แต่การฝึกนิสัยที่ดีในการเข้านอนของลูกน้อยจะช่วยให้เวลาอีกหลายเดือนต่อจากนี้เป็นเรื่องง่ายขึ้น เมื่อลูกน้อยอายุ 6 เดือน เขาจะสามารถนอนหลับได้ตลอดคืน ดังนั้น คุณจึงสามารถเริ่มต้นกิจวัตรเพื่อสอนให้ลูกน้อยเข้านอนได้ตั้งแต่เขาอายุ 6-8 สัปดาห์
เวลานอนกลางวันปกติ
ทำตามกำหนดเวลานอนกลางวันปกติตลอดทั้งวัน พร้อมกำหนดเวลาเข้านอนตอนกลางคืนเพื่อให้ทุกคนรับทราบและปฏิบัติตาม อาจมีช่วงการลองผิดลองถูกขณะที่คุณพยายามค้นหาว่าลูกน้อยต้องการนอนมากน้อยเพียงใด แต่อย่ากลัวที่ต้องปลุกลูกหากคุณคิดว่านอนนานเกินไป
ความแตกต่างระหว่างกลางคืนกับกลางวัน
สำหรับลูกน้อยแล้ว กลางคืนและกลางวันแทบจะไม่แตกต่างกันเลย หากต้องการให้ลูกน้อยบ่มเพาะนิสัยนอนหลับสั้นๆ ช่วงกลางวันและนอนหลับยาวในช่วงกลางคืน คุณแม่ลองแยกให้เขาเห็นถึงความแตกต่างระหว่างกลางวันกับกลางคืน จัดสภาพแวดล้อมตอนกลางวันให้เจิดจ้า สว่างไสว มีเสียงและตื่นเต้น แม้ในช่วงที่เขานอนกลางวัน อย่าพยายามปิดกั้นโลกภายนอก และไม่ต้องเป็นกังวลว่าทุกอย่างต้องเงียบกริบ และเมื่อถึงเวลากลางคืน บ้านต้องมืด เงียบและสงบ ปิดผ้าม่าน ลดเสียงให้เบาที่สุด และปิดโทรทัศน์ ในไม่ช้า การเปลี่ยนแปลงบรรยากาศจะช่วยให้ลูกน้อยรู้ความแตกต่างได้
การเตรียมลูกน้อยให้พร้อมสำหรับเวลาเข้านอน
• เริ่มด้วยการอาบน้ำอุ่นให้ลูกและเล่นกับเขาเบาๆ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นก่อนเข้านอน
• สวมชุดนอนผ้าเนื้อนุ่มให้กับลูกน้อย ให้คุณแม่หรี่ไฟและนั่งลงขณะที่อุ้มลูกไว้ภายในห้องนอนที่เงียบสงบ
• อุ้มลูกไว้เงียบๆ ในอ้อมแขนพร้อมกับให้ลูกดูดนมเป็นมื้อสุดท้ายของวัน
• ร้องเพลงกล่อมเด็กหรืออ่านนิทานก่อนนอนให้ลูกฟัง ใช้น้ำเสียงที่เบาและนุ่มนวล แล้วค่อยๆ วางลูกลงในเปลที่มีของเล่นชิ้นโปรดอยู่ด้วย คุณควรอุ้มหรือกอดของเล่นเหล่านั้นให้มากๆ เพื่อให้มีกลิ่นกายของคุณติดอยู่ ซึ่งจะช่วยให้ง่ายขึ้น
• ปิดไฟกลางห้องแต่เปิดโคมไฟหัวเตียงไว้เพื่อช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกปลอดภัยและอุ่นใจ
• สุดท้าย ค่อยๆ จูบราตรีสวัสดิ์ลูก
ควรทำอย่างไรเมื่อลูกน้อยร้องไห้
บางคนเชื่อว่าควรปล่อยให้ลูกน้อยส่งเสียงร้องไห้ เพื่อให้ลูกเริ่มเรียนรู้ที่จะนอนหลับด้วยตัวเอง แต่คุณอาจต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อหักห้ามใจไม่ให้เดินเข้าไปในห้องแล้วอุ้มลูกปลอบประโลม
คุณอาจเลือกใช้วิธีนี้ที่ดูนุ่มนวลกว่าและได้ผลพอๆ กัน เมื่อลูกเริ่มร้องงอแงยามคุณเดินออกจากห้อง คุณแม่ควรลูบศีรษะของเขา และพูดเบาๆ ว่า "ราตรีสวัสดิ์จ้ะ แม่รักลูกนะ" ก่อนออกจากห้อง ถ้าคุณต้องกลับเข้าไปในห้อง ให้รอ 5 หรือ 10 นาที และทำแบบเดิมซ้ำอีกจนกระทั่งลูกน้อยหลับ
คุณแม่และลูกแต่ละคู่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นพยายามอย่าเครียดมากเกินไปหากกิจวัตรเฉพาะนี้ไม่ได้ผล ทั้งคุณและลูกอาจต้องใช้เวลาปรับตัวกับเรื่องต่างๆ ดังนั้น คุณควรพยายามและอดทน และทำสิ่งที่เหมาะสมที่สุดกับคุณและลูกน้อย