รัฐบาลเคนยาเปิดเผยว่า พบแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในจังหวัดเทอร์คานา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพแห้งแล้งจัด ที่สามารถหล่อเลี้ยงประเทศได้นานถึง 70 ปี
นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบชั้นหินอุ้มน้ำ 2 แห่ง บริเวณพื้นที่แอ่งเทอร์คานาและโลติกิปิ โดยใช้ดาวเทียมและเรดาร์ หลังจากปีที่แล้วมีการเปิดเผยแผนที่ที่ระบุรายละเอียดของพื้นที่แหล่งน้ำ ที่อยู่เบื้องล่างแผ่นดินของทวีปแอฟริกา โดยแหล่งน้ำใต้ดินขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งมีการค้นพบที่ประเทศนามิเบีย ซึ่งเป็นประเทศที่แห้งแล้งที่สุดในแอฟริกา
เทอร์คานาเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีอากาศร้อน ความแห้งแล้ง และประชาชนยากจนมากที่สุดจังหวัดหนึ่งของเคนยา และได้รับผลกระทบอย่างรุนรงจากภาวะแห้งแล้งเมื่อปีที่แล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพปศุสัตว์เร่ร่อนที่ต้องพึ่งพาแหล่งน้ำเป็นหลัก
นางจูดี วาคุนกู รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมเคนยา เป็นผู้ประกาศข่าวดังกล่าวในที่ประชุมองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก เธอกล่าวว่า การค้นพบแหล่งน้ำอันมีค่าเป็นการเปิดประตูไปสู่อนาคตที่มั่งคั่งของประชาชน ในจังหวัดเทอร์คานาและประเทศเคนยา ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันในการสำรวจแหล่งน้ำดังกล่าวอย่างมีความรับผิดชอบ และร่วมกันปกป้องมันเพื่อลูกหลาน
ทั้งนี้ รายงานระบุว่า ชั้นหินอุ้มน้ำดังกล่าว เก็บกักน้ำไว้เป็นปริมาณถึง 250,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่นางวาคุนกูกล่าวว่า ปัจจุบันชาวเคนยาใช้น้ำปีละราว 3 ล้านลูกบาศก์เมตร เธอหวังว่าหลุมเจาะทดลอง 2 จุด จะสามารถให้บริการประชาชนได้ภายในเดือนนี้ โดยประชาชนในพื้นที่จะได้รับการแจกจ่ายน้ำเป็นลำดับแรก ก่อนที่จะพิจารณาเพื่อนำไปใช้เพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรมในลำดับต่อไป
อย่างไรก็ตาม นายอาบู อามานี นักอุทกวิทยาประจำยูเนสโกในเคนยา กล่าวเรียกร้องมิให้มีการขุดเจาะน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้มากเกินความจำเป็น และควรมีระบบการจัดการและจัดสรรน้ำที่ดี
ด้านนายอิคัล แองกลี หัวหน้ากลุ่มเอ็นจีโอ เฟรนด์ส ออฟ เลค เทอร์คานา กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อจัดการน้ำร่วมกัน ที่ผ่านมายังไม่มีการจัดการหารือร่วมกับชาวบ้านในเรื่องนี้แต่อย่างใด
ทั้งนี้ ตามข้อมูลของยูเนสโก ชาวเคนยาราว 17 จาก 41 ล้านคน ยังคงขาดการเข้าถึงน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคที่สะอาดเพียงพอ