เป็นที่ทราบกันดีว่าป่าไม้เป็นสิ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต ป่าไม้เป็นแหล่งวัตถุดิบของปัจจัยทั้งสี่ตั้งแต่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ให้ประโยชน์ทางเศรษกิจ อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การชลประทาน บรรเทาอุทกภัย และอื่นๆอีกมาก นอกจากนี้ ป่ายังเป็นแหล่งดำรงรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะป่าฝนเขตร้อนที่พบได้มากในประเทศไทย ประมาณกันว่าเราสามารถพบสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในโลกประมาณ 40-70% ได้ในป่าฝนเขตร้อน นอกจากนี้ป่าฝนเขตร้อนคือแหล่งค้นพบเภสัชกรรมใหม่ๆที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นแหล่งหมุนเวียนออกซิเจนถึง 28% ของออกซิเจนทั้งหมดในโลก
อย่างไรก็ตาม เมื่อสังคมมนุษย์ขยายตัวมากขึ้นก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไปเพื่อการเกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย เพื่อทรัพยากรป่าไม้ ฯลฯ ซึ่งหากไม่มีการควบคุมการใช้ทรัพยากรเหล่านี้ พื้นที่ป่าในสังคมนั้นๆก็จะเสื่อมโทรมหรือหมดไปในที่สุด ทั้งนี้ ตัวเลขสัดส่วนพื้นที่ป่าเทียบกับพื้นที่ทั้งหมดในประเทศน่าจะสามารถแสดงให้เห็นระดับการให้ความสำคัญต่อทรัพยากรธรรมชาติในสังคมนั้นๆได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งหากเราพิจารณาพื้นที่ป่าเป็นสัดส่วนต่อพื้นที่ประเทศแล้ว [1] จะพบว่าแต่ละประเทศมีพื้นที่ป่าคิดเป็นสัดส่วนดังนี้:
จีน | 18.21% |
ญี่ปุ่น | 67.00% |
เกาหลีใต้ | 64.00% |
เยอรมนี | 31.70% |
สหรัฐอเมริกา | 30.84% |
ลาว | 71.60% |
พม่า | 63.64% |
มาเลเซีย | 59.50% |
กัมพูชา | 51.56% |
อินโดนีเซีย | 46.46% |
เวียดนาม | 37.14% |
ไทย | 29.00% |
ฟิลิปปินส์ | 23.87% |
สิงคโปร์ | 3.00% |
อนึ่ง ด้วยภูมิประเทศที่แตกต่างกัน อาจทำให้แต่ละประเทศมีปริมาณพื้นที่ป่าแตกต่างกันไปโดยธรรมชาติ เช่น จีน อาจจะมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายหรือเทือกเขาสูง
จากตัวเลขข้างต้นจะเห็นว่าประเทศไทยมีสัดส่วนพื้นที่ป่าน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเรามักพบว่าประเทศที่มีการเปลี่ยนวิถีชีวิตของประชากรเข้ามาสู่วิถีชีวิตในเมืองมากขึ้น มักจะมีพื้นที่ส่วนป่าที่ลดลง เช่นเมื่อเทียบระหว่างประเทศไทยกับเพื่อนบ้านอย่างลาว อย่างไรก็ตาม เราอาจพบได้่เช่นกันว่าประเทศอุตสาหกรรมที่มีวิถีชีวิตทันสมัยแบบแบบเมืองใหญ่ และมีเมืองหลวงที่ติดอันดับเมืองที่แออัดที่สุดในโลกเมืองหนึ่งอย่าง ญี่ปุ่น กลับสามารถรักษาปริมาณพื้นที่ป่าไว้ได้สูงมากอย่างน่าทึ่ง
ในปัจจุบันนี้คงไม่จำเป็นต้องถกเถียงกันถึงประโยชน์ของการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ ซึ่งจากตัวเลขของประเทศพัฒนาแล้วหลายๆประเทศ ก็น่าจะแสดงให้เห็นได้ว่าการพัฒนาประเทศกับการอนุรักษ์ป่าไม้นั้น เป็นสิ่งที่สามารถทำให้เกิดควบคู่กันไปได้ หากสังคมนั้นตั้งใจและร่วมมือกันอย่างจริงจัง