อินเดียกำหนดให้วันที่ 28 ต.ค. ส่งยานไร้คนขับขึ้นสู่ห้วงอวกาศ เพื่อสำรวจดาวอังคาร
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ว่า องค์การวิจัยอวกาศอินเดียได้ประกาศให้ 28 ตุลาคมเป็นวันปล่อยยาน”มาร์ส ออร์บิเตอร์ มิสชั่น” ( Mars Orbiter Mission) ซึ่งเป็นโครงการอวกาศที่สำคัญของประเทศ โดยยานไร้คนขับจะโคจรรอบดาวอังคาร ภายหลังทะยานออกจากฐานยิงจรวดขับดันในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย และภารกิจสำรวจดาวอังคารครั้งนี้ คาดว่า ใช้งบประมาณราว 83 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 2,573 ล้านบาท
ยานอวกาศลำนี้ ซึ่งอินเดียสร้างขึ้นเอง จะใช้เวลาถึง 9 เดือนในการเข้าถึงดาวอังคาร จากนั้นจะโคจรรอบดาวอังคารเป็นแบบวงรี
โดยอยู่ห่างจากดาวแดงประมาณ 500 กิโลเมตร ด้าน เทวีปราสาด คาร์นิค นักวิทยาศาสตร์แห่งโครงการอวกาศอินเดียให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์จากเมืองบังกาลอร์ว่า ภารกิจสำรวจดาวอังคารพร้อมที่จะดำเนินการแล้ว อย่างไรก็ตาม ภารกิจสู่ดาวอังคารของอินเดียได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จาก
ผู้คนในประเทศที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนพลังงานและสารอาหารอย่างหนัก
อีกทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ชะลอตัวมากที่สุดในรอบ 10 ปี แต่ทางการอินเดียอ้างมาตลอดว่า การพัฒนาเทคโนโลยีในโครงการอวกาศ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โครงการสำรวจอวกาศของอินเดียเริ่มขึ้นเมื่อปี 2505 แต่เมื่อ 5 ปีก่อน ดาวเทียมจันทรายันของอินเดียพบหลักฐานของน้ำบนดวงจันทร์ ทำให้อินเดียเตรียมส่งยานหุ่นยนต์สำรวจดวงจันทร์ในปีหน้า