ใคร ๆ ก็บอกให้กินกล้วยจะได้แข็งแรง แต่กล้วยก็มีตั้งมากมาย หลากหลายสายพันธุ์ จะหยิบกล้วยอะไรมากินดี?
"กล้วย" ผลไม้ที่คนไทยรู้จักและนิยมรับประทานกันมานาน หลายคนมองว่าเป็นผลไม้มหัศจรรย์กินเป็นยารักษาและป้องกันโรค บางคนเวลากินแต่กล้วยเพื่อลดความอ้วนก็มี แต่ที่จริงแล้วการกินแต่กล้วยและกินเยอะ ๆ ก็ไม่ใช่การกินที่ถูกต้อง
คุณวลีลักษณ์ วีรเดชะ หวัหน้าแผนกโภชนาการ โรงพยาบาลกรุงเทพ-คริสเตียน บอกว่า ที่จริงแล้วกล้วยก็เหมือนผลไม้ชนิดอื่น ๆ ทั่วไปที่โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตค่อนข้างต่ำ แต่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินหลายชนิด
หลากหลายแต่ไม่มากมาย
หากเทียบดูคุณค่าทางสารอาหารของกล้วยกับผลไม้ชนิดอื่น เช่น ส้ม ในปริมาณที่เท่ากัน จะเห็นว่าที่จริงปริมาณแร่ธาตุและวิตามินในกล้วยก็ไม่ได้มากมายอะไรนัก มีกล้วยเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่โดดเด่นขึ้นมา ความนิยมในการกินกล้วยน่าจะมาจากการเป็นผลไม้ที่หาได้ง่ายและราคาถูกมากกว่า
นอกจากนี้ "อย่าคิดว่ากินกล้วยแล้วผอม" คุณวลีลักษณ์ บอกว่า กล้วยเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลทั้งฟรักโทส กลูโคส และซูโครส แม้ว่าจะค่อนข้างต่ำแต่ก็ถือว่ามีอยู่ กินในปริมาณมาก ๆ ก็ได้รับพลังงานมาก ยังไงน้ำหนักก็ไม่ลดลง
อันที่จริงในผู้ป่วยเบาหวาน กล้วยเป็นผลไม้ที่ต้องระวังในการกินด้วยซ้ำ แต่จะงดเว้นการกินกล้วยไปเลยก็ไม่ดีอีกนั่นแหละ การกินผลไม้ให้ได้ประโยชน์คุ้มที่สุดต้องกินให้หลากหลาย และหมุนเวียนกันไปเรื่อย ๆ
กล้วยไข่
มีวิตามินเอ และเบต้าแคโรทีนสูงเด้งขนาดนี้ สาว ๆ ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสายตา นั่งจ้องหน้าคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือแท็บเล็ตทั้งวันห้ามพลาดเด็ดขาด
ปริมาณที่แนะนำ : 1 ลูกเล็ก ๆ
กล้วยน้ำว้า
ใยอาหารที่มีค่อนข้างมากจะช่วยดูดซับไขมัน น้ำตาล และสารพิษต่าง ๆ ช่วยให้ขับถ่ายดี ส่วนวิตามินบี 3 ก็ช่วยลดผิวหนังอักเสบ ดูเรื่องเรื่องระบบประสาท และลดอาการอ่อนเพลีย
ปริมาณที่แนะนำ : ประมาณ 3/4 ลูก
กล้วยหอม
ฟอสฟอรัสที่สูงจะช่วยป้องกันไม่ให้กระดูกเปราะ ส่วนวิตามินซีก็จะช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ บำรุงหลอดเลือดให้แข็งแรง และป้องกันลักปิดลักเปิด
ปริมาณที่แนะนำ : 1/2 ลูกเล็ก ๆ
กล้วยหักมุก
มีสารอาหารโดดเด่นมากกว่ากล้วยอื่น ๆ ทั้งแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่มีอยู่มากจะช่วยบำรุงโครงสร้างของกระดูกให้แข็งแรง ธาตุเหล็กช่วยป้องกันโลหิตจาง วิตามินบี 1 ป้องกันเหน็บชา และวิตามินบี 2 ป้องกันมะเร็งหลอดอาหาร
ปริมาณที่แนะนำ : 3/4 ลูกเล็ก ๆ