“เราสามารถนำมันฝรั่งมาทำอาหารสุขภาพได้หลายอย่าง เช่น ต้มให้สุกแล้วบด จากนั้นโรยเกลือและพริกไทยป่นเล็กน้อย หรือถ้าอยากให้มีกลิ่นหอมมากขึ้น ควรนำส่วนผสมที่ได้ห่อกระดาษฟรอยด์แล้วนำเข้าอบในเตาอบ บดเนื้อมันฝรั่งต้มสุกผสมในน้ำแกง เช่น เมนูหัวปลาต้มเผือก จะทำให้น้ำแกงเข้มข้นขึ้น หรือทำเป็นขนม โดยใช้แทนมันเทศหรือเผือก เช่น บัวลอยเผือก มันทิพย์ เผือกทิพย์ ก็ได้”
แท้จริงแล้วมันฝรั่งเป็นอาหารสำหรับผู้ต้องการลดน้ำหนัก(และควบคุมระดับ น้ำตาลในเลือดชนิดหนึ่ง) เพราะให้แคลอรี่ต่ำ มันฝรั่งต้ม 100 กรัม ให้พลังงานเพียง 75-80 แคลอรี่เท่านั้น นอกจากนี้ผักหัวกลมนี้ยังอุดมไปด้วยวิตามินซี โพแทสเซียม วิตามินบี 1 และวิตามินบี 6
เทคนิคคู่ครัว ปรุง+เลือกซื้อ+เก็บรักษา
การปรุง
“ต้องล้างให้สะอาดก่อนนำมาต้มหรืออบ และควรปรุงทั้งเปลือกเพื่อรักษากลิ่นหอมของมันฝรั่งไว้ และยังช่วยรักษาวิตามินซีในเนื้อไม่ให้ถูกทำลายไป ส่วนน้ำที่ต้มมันฝรั่ง อย่าทิ้ง เก็บไปทำน้ำซุปได้”
การเลือกซื้อ
“เลือกหัวที่มีสีเหลืองทอง ไม่มีปุ่มตาของรากที่กำลังงอกหรือหัวที่มีจุดสีเขียวอ่อน นั่นแสดงว่า เป็นมันฝรั่งที่เก็บไว้นาน เนื้อจะไม่อร่อย”
ข้อมูลจากหนังสือ รู้คุณรู้โทษโภชนาการ ( Foods That Harm, Foods That Heal) บริษัทรีดเดอร์ส ไดเจสท์ (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายว่า
มันฝรั่งที่มีจุดเขียวๆ และมีรากงอกออกมามีส่วนประกอบของสารอัลคาลอยด์ (alkaloid) ที่เรียกว่า ซาโคนีน (chaconine) และโซลานีน (solanine) ซึ่งหากมีปริมาณมากเกินไปจะเป็นพิษร้ายแรงได้ จึงควรคัดหัวที่มีจุดเขียวทิ้งไป สำหรับผู้แพ้สารโซลานีน แม้ได้รับเข้าไปเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เป็นไมเกรนได้
การเก็บ
“ไม่ควรนำไปแช่ตู้เย็น เพราะจะกระตุ้นให้เกิดการงอกของรากอย่างรวดเร็ว ควรวางมันฝรั่งไว้ในห้องอุณหภูมิปกติและอากาศถ่ายเทสะดวก”
กินมันฝรั่งและผักชนิดอื่นๆ หมุนเวียนกันไป ก็เป็นตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้หุ่นดี แต่อย่าลืมนอน พักผ่อน ออกกำลังกาย และทำงานให้สมดุลด้วยค่ะ