ในความหมายของคำว่า "สังฆราช" แปลว่า ราชาของสงฆ์ ราชาของหมู่คณะ หมายถึง พระมหาเถระผู้เป็นใหญ่สูงสุดในสังฆมณฑล มักเรียกกันสั้นๆ ว่า "สมเด็จพระสังฆราช" ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ตามที่มีหลักฐานปรากฏบนศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ว่า "สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก" เป็นตำแหน่งสมณศักดิ์สูงสุดฝ่ายพุทธจักรของคณะสงฆ์ไทย ทรงเป็นประธานการปกครองคณะสงฆ์ ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนั้นนำแบบอย่างมาจากลัทธิลังกาวงศ์
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้เพิ่มตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็น "สกลมหาสังฆปริณายก" มีอำนาจว่ากล่าวออกไปถึงหัวเมือง มีพระสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายคามวาสี เป็นสังฆราชขวา และสมเด็จพระวันรัต เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี เป็นสังฆราชซ้าย องค์ใดมีพรรษายุกาลมากกว่าก็ได้เป็นพระสังฆราช
ต่อมาปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา พระอริยมุนี ได้ไปสืบอายุพระพุทธศาสนาที่ลังกาทวีป จนมีความชอบ เมื่อกลับมาได้รับสมณศักดิ์สูงขึ้นตามลำดับจนเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระเจ้าเอกทัศน์มีพระราชดำริให้คงราชทินนามนี้ไว้ จึงทรงตั้งราชทินนามสมเด็จพระสังฆราชเป็น "สมเด็จพระอริยวงศาสังฆราชาธิบดี" และมาเป็น "สมเด็จพระอริยวงษญาณ" ในสมัยกรุงธนบุรี และใช้ต่อมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนเป็น "สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ" ใช้พระนามนี้จนถึงปัจจุบัน
เมื่อย้อนกลับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 9 รัชกาลปัจจุบัน
มีพระมหาเถระได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช แล้ว 19 พระองค์ ประกอบด้วย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า 3 พระองค์, สมเด็จพระสังฆราชเจ้า 2 พระองค์ และสมเด็จพระสังฆราช 14 พระองค์
โดยจะมีพระนามสองอย่าง หากเป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์จะมีคำนำหน้าพระนามว่า "สมเด็จพระสังฆราชเจ้า" หรือ "สมเด็จพระมหาสมณเจ้า"
หากเป็นสามัญชนมีคำนำหน้าว่า "สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ" ดังรายละเอียดดังนี้
1.สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดระฆังโฆสิตาราม ปี 2325-2337 ดำรงสมณศักดิ์ 12 ปี
2.สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ฯ ปี 2337-2359 ดำรงสมณศักดิ์ 23 ปี
3.สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ฯ ปี 2359-2362 ดำรงสมณศักดิ์ 3 ปีเศษ
4.สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ฯ ปี 2363-2365 ดำรงสมณศักดิ์ 1 ปีเศษ
5.สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ฯ ปี 2365-2385 ดำรงสมณศักดิ์ 19 ปีเศษ
6.สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) ปี 2386-2392 ดำรงสมณศักดิ์ 5 ปีเศษ
7.สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (พระองค์เจ้าวาสุกรี สุวณฺณรํสี) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ปี 2394-2396 ดำรงสมณศักดิ์ 1 ปีเศษ
8.สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺคโต) วัดบวรนิเวศวิหาร ปี 2434-2435 ดำรงสมณศักดิ์ 11 เดือนเศษ
9.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ปี 2436-2442 ดำรงสมณศักดิ์ 6 ปีเศษ
10.สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค) วัดบวรนิเวศวิหาร ปี 2453-2464 ดำรงสมณศักดิ์ 10 ปีเศษ
11.สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ปี 2464-2480 ดำรงสมณศักดิ์ 16 ปีเศษ
12.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม ปี 2481-2487 ดำรงสมณศักดิ์ 6 ปีเศษ
13.สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร ปี 2488-2501 ดำรงสมณศักดิ์ 13 ปีเศษ
14.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ปี 2503-2505 ดำรงสมณศักดิ์ 2 ปีเศษ
15.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) วัดสระเกศฯ ปี 2506-2508 ดำรงสมณศักดิ์ 2 ปีเศษ
16.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) วัดมกุฏกษัตริยาราม ปี 2508-2514 ดำรงสมณศักดิ์ 6 ปีเศษ
17.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ปี 2515-2516 ดำรงสมณศักดิ์ 1 ปีเศษ
18.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ปี 2517-2531 ดำรงสมณศักดิ์ 14 ปีเศษ และ
19.สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร ปี 2532-2556 นอกจากทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช ที่มีพระชนมายุยาวนานที่สุด และดำรงสมณศักดิ์ยาวนานในประวัติศาสตร์แล้วนั้น
เมื่อครั้งสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สิ้นพระชนม์ เมื่อปี 2531 ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในราชทินนามเดิม "สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก"
โดยราชทินนามดังกล่าวนับเป็นราชทินนามพิเศษ เนื่องจากสมเด็จพระสังฆราชที่มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ตามปกติจะใช้ราชทินนามว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
ดังนั้น นับเป็นอีกหนึ่งครั้งที่มีการใช้ราชทินนาม สมเด็จพระญาณสังวร สำหรับสมเด็จพระสังฆราช เพื่อเป็นพระเกียรติคุณทางวิปัสสนาธุระของพระองค์ และเป็นสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกของประเทศไทย