อธิบดีกรมสุขภาพ จิตแนะวิธีช่วยเพิ่มฮอร์โมนแห่งความสุข 5 ข้อ ให้ความรักแก่ตนเองและผู้อื่น ยอมรับตัวเราและผู้อื่น มองโลกตามความเป็นจริง เผยสัปดาห์สุขภาพ จิตแห่งชาติปีนี้ รณรงค์ร่วมกัน "ฮอร์โมนความสุข...สร้างได้ทุกวัย" ทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนและภาคีเครือข่ายรวมพลังกันสร้างความสุขให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มวัย
วิธีที่จะช่วยเพิ่มฮอร์โมนแห่งความสุข ให้เกิดขึ้น มีข้อปฏิบัติ 5 ข้อ คือ
1. ออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที จะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุข ทั้ง 3 ตัว ได้แก่ ซีโรโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีผลต่อความสุข ความมั่นคงทางอารมณ์ และช่วยป้องกันโรคซึมเศร้า เอ็นดอร์ฟิน ที่เป็นฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกดี ลดความกังวลและความเจ็บปวด และโดปามีน ที่เป็นฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกสดชื่น กระฉับกระเฉง
2. รับประทานอาหาร จำพวกน้ำตาล ไขมัน และคอเลสเตอรอลในระดับที่พอเหมาะ นอกจากนี้การรับประทานอาหารโปรตีนที่มีส่วนประกอบของ ทริปโตเฟนในปริมาณมาก เช่น เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง ปลา นม กล้วย ถั่วลิสง จะช่วยเพิ่มการหลั่งของซีโรโทนิน
3. ทำกิจกรรมท่ามกลางแสงแดด อย่างน้อย 20 นาทีในตอนเช้า จะส่งผลให้ร่างกายผลิตสาร เมลาโทนิน ที่จะเปลี่ยนเป็นซีโรโทนิน ช่วยในเรื่องการนอนหลับพักผ่อนได้เต็มที่ในตอนกลางคืน
4. นวดตัว เป็นพลังจากการสัมผัส ซึ่งมีรายงานวิจัยโดย Touch Research Institute ของ Miami School of Medicine พบว่า การนวดตัวช่วยเพิ่มซีโรโทนิน ถึง 28% และลดสารคอร์ติโซน ที่เป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดได้ถึง 31%
5. ลดเครียดและจัดการอารมณ์ที่ทำให้เครียด เช่น ความกังวล ความโกรธ ความกลัว เพื่อช่วยเพิ่มระดับของซีโรโทนิน อาทิ การฝึกหายใจคลายเครียด
"ตราบใดที่ตัวเราสามารถให้ความรักแก่ตนเองและผู้อื่น ยอมรับตัวเราและผู้อื่น ยอมรับความเป็นจริงในปัจจุบัน สามารถชื่นชม ภาคภูมิใจ สิ่งที่เรามี และสิ่งที่ผู้อื่นมี มีความอ่อนโยน และเมตตาทั้งตัวเราและผู้อื่น มองโลกตามความเป็นจริง มองทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ มีแง่ดีงามอยู่เสมอ รวมทั้งมีอารมณ์ขันกับเรื่องรอบตัวบ้าง เราก็จะเป็นสุขได้เช่นกัน"