พระประจำวันใครเป็นผู้กำหนด?
เอกสารของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ รวบรวมสรุปว่า การกำหนดพระพุทธรูปแต่ละปางให้ตรงกับทั้ง 7 วันในสัปดาห์ มีมาแต่สมัยใด ไม่ปรากฏแน่ชัด แต่สมัยโบราณได้มีการสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ มาบ้างแล้ว เพื่อเป็นพุทธานุสติน้อมนำใจให้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์
ครั้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้ทรงโปรดฯ ให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงคิดค้นคัดเลือกพุทธอิริยาบถปางต่างๆ ตามพุทธประวัติมา สร้างเพิ่มเติม เมื่อนับรวมกับแบบเดิมก็ได้ทั้งสิ้น 40 ปาง
กล่าวกันว่าการสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ ให้เป็นพระพุทธรูปประจำวันเกิดแต่ละวันนั้น เป็นโบราณอุบายของคนสมัยก่อนที่จะหาที่พึ่งทางใจให้แก่ตนและลูกหลาน และถือว่าการบูชาพระประจำวันเกิดเป็นมงคลอันสูงยิ่งอีกประการหนึ่ง โดยบางคนก็บูชาเพื่อสะเดาะเคราะห์หรือปัดเป่าให้รอดพ้นภัยพิบัติ
พระพุทธรูปปางประจำวันเกิดแต่ละวันดังกล่าวมีดังนี้ ปางถวายเนตร พระประจำวันอาทิตย์ มาจากเมื่อครั้งพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ก็ได้ประทับเสวยวิมุตติสุข (สุขอันเกิดจากความสงบ) อยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิเป็นระยะเวลา 7 วัน หลังจากนั้นได้เสด็จไปประทับยืน ณ ที่กลางแจ้งทางทิศอีสานของต้นพระศรีมหาโพธิ ทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิโดยไม่กะพริบพระเนตรเลยตลอดระยะเวลา 7 วัน สถานที่ประทับยืนนี้มีนามปรากฏว่า "อนิมิสเจดีย์" มาจนปัจจุบัน
ปางห้ามญาติ หรือ ปางห้ามสมุทร พระประจำวันจันทร์ 2 ปางนี้ต่างกันเล็กน้อย กล่าวคือ ถ้าเป็นปางห้ามญาติจะยกมือขวาขึ้นห้ามเพียงมือเดียว ส่วนปางห้ามสมุทรจะยกมือทั้งสองขึ้นห้าม ส่วนใหญ่นิยมสร้างเป็นปางห้ามญาติ
สำหรับความเป็นมาของ ปางห้ามญาติ เกิดขึ้นเนื่องจากพระญาติฝ่ายพุทธบิดา คือกรุงกบิลพัสดุ์ และพระญาติฝ่ายพุทธมารดา คือกรุงเทวทหะ ซึ่งอาศัยอยู่บนคนละฝั่งของแม่น้ำโรหิณี เกิดทะเลาะวิวาทแย่งน้ำเพื่อไปเพาะปลูกกันขึ้น ถึงขนาดจะยกทัพทำสงครามกันเลยทีเดียว พระพุทธองค์จึงต้องเสด็จไปเจรจาห้ามทัพ ห้ามพระญาติมิให้ฆ่าฟันกัน
ส่วน ปางห้ามสมุทร ในครั้งที่พระพุทธ เจ้าเสด็จไปประกาศพระศาสนายังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ของพระเจ้าพิมพิสาร ทรงขอประทับแรมอยู่ในสำนักของอุรุเวลกัสสปะ ผู้เป็นหัวหน้า ชฎิล (ฤๅษี ผู้บูชาไฟ) ซึ่งเป็นที่เลื่อมใสของประชาชนในแคว้นมคธทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์นานัปการเพื่อทรมานฤๅษีอุรุเวลกัสสปะให้คลายความพยศลง ในครั้งที่น้ำท่วม พระองค์ทรงทำปาฏิหาริย์ห้ามน้ำที่ไหลบ่ามาจากทุกสารทิศมิให้เข้ามาในที่ประทับ และเสด็จจงกรมภายในวงล้อมที่มีน้ำเป็นกำแพง พวกเหล่าชฎิลพายเรือมาดูเห็นเป็นอัศจรรย์จึงยอมรับในอานุภาพของพระพุทธองค์ และขออุปสมบทเป็นพระภิกษุ
ปางไสยาสน์ พระประจำวันอังคาร หรือบางทีเรียก ปางปรินิพพาน ทั้งนี้ ปางไสยาสน์ พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระ เศียร ส่วนปางปรินิพพาน พระหัตถ์ขวาวางหงายอยู่ข้างพระเขนย เป็นพุทธประวัติตอนที่พระพุทธองค์ได้รับสั่งให้พระจุนทะเถระ ปูอาสนะลงที่ระหว่างต้นรังคู่หนึ่ง แล้วประทับบรรทมแบบสีหไสยา ตั้งพระทัยไม่เสด็จลุกขึ้นอีก แต่ก็ยังได้โปรดสุภัททปริพาชกเป็นอรหันต์องค์สุดท้าย ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน
ปางอุ้มบาตร พระประจำวันพุธ (กลางวัน)