เลี้ยงลูกแบบยายแล พ่อ-แม่รังแกฉัน

ละคร "ทองเนื้อเก้า" กำลังเข้มข้น และกำลังเดินทางมาถึงบทสรุปของเรื่องแล้ว

จะว่าไป ละครเรื่องนี้สะท้อนสังคมหลายอย่าง อย่างหนึ่งที่เห็นชัดเจนคือ "การเลี้ยงลูกของยายแล" ที่มีลูกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ลำยอง, ลำยง, ลำดวน และอีก 2 หนุ่ม แป้งและปาน 

ละครสะท้อนให้เห็น บทสรุปของลูกทุกคนที่ถูกเลี้ยงโดยยายแลและพ่อขี้เมาบ้านนี้เห็นได้ว่า มีเพียงคนเดียวที่ดีผิดพี่ผิดน้อง และสุดท้ายก็เป็นคนเดียวที่ประสบความสำเร็จในชีวิต คือ "ลำยง" สะท้อนให้ความจริงข้อหนึ่งว่า แม้เด็กจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน แต่เด็กแต่ละคนจะมีคุณลักษณะประจำตัวที่ต่างกัน 

ซึ่ง "คุณลักษณะประจำตัว" นี้ เป็นตัวแปรที่ทำให้คนเราประสบความสำเร็จแตกต่างกัน 

พญ.ปราณี เมืองน้อง กุมารแพทย์-จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี อธิบายว่า คุณลักษณะบางอย่างถือเป็นปัจจัยปกป้องหรือปัจจัยเสริม บางอย่างถือเป็นปัจจัยเสี่ยง

"ลำยงแม้ชีวิตรันทด แม่ไม่รัก แต่เธอมีปัจจัยเสริมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นมีความมานะ ขยันหมั่นเพียร มองโลกอย่างเข้าใจ มีทักษะทางสังคมดี ในขณะที่ลำยองและน้องคนอื่นๆ เป็นเด็กที่เต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยง นั่นคือ ขี้เกียจ ไม่มีความพยายาม ขาดระเบียบวินัย ทักษะการสื่อสารแย่" 

พญ.ปราณีกล่าวอีกว่า เด็กทั้ง 5 คน เติบโตมาในครอบครัว ที่มีความรุนแรงทั้งทางวาจาและกาย แม่ที่ผิดหวังกับพ่อที่เอาแต่เมามาย ยายแลจึงเอาแต่บ่นตาปอและลูกๆ แถมยายแลยังจริยธรรมแย่ ขโมยของในร้านค้า โกงเงินทอนลูกค้าโดยไม่รู้สึกผิด ใช้ภาษาหยาบคาบ กิริยามารยาทแย่ ทำให้ลูกๆ กลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยง เห็นดีเห็นงามและเลียนแบบพฤติกรรมผิดๆ เกิดทัศนคติด้านลบ เห็นแก่ตัว และขี้ขโมยเหมือนยายแล ผิดกับลำยงที่มีปัจจัยปกป้องหลายด้าน ทำให้มีความมั่นใจในตัวเอง เคารพตัวเอง ซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเอง และรู้จักผิดชอบชั่วดีผิดกับพี่น้องคนอื่นๆ 

"ยายแลเลี้ยงลำยอง เหมือนพ่อแม่รังแกฉัน ปลูกฝังให้ลูกสาวคนสวย ใช้การรวยทางลัด จนลืมปลูกฝังคุณลักษณะดีๆ ไม่เคยฝึกลำยองให้ทำงานบ้านหรือทำมาหากิน ไม่เคยชมลำยงที่ทำงานทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือครอบครัว สามารถพัฒนาตนเองจนเป็นเจ้าของร้านค้า" 

จากอุทาหรณ์การเลี้ยงลูกของยายแล พญ.ปราณีให้ข้อคิดว่า แม้เด็กหลายคนจะมีคุณลักษณะบางอย่างที่เป็นปัจจัยเสี่ยง มาขัดขวางการพัฒนาตนเอง แต่หากได้รับการเลี้ยงดูภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ไม่มีความรุนแรงในบ้าน มีพ่อแม่ที่เปรียบเหมือนพระในบ้านคอยชื่นชมลูกหรือปลูกฝังสิ่งดีๆ ให้ จะมีผลให้เด็กมีจิตใจอ่อนโยน เห็นอกเห็นใจคนอื่น จะทำให้เด็กมองเห็นสิ่งดีๆ ในตนเอง ภาคภูมิใจในตนเอง ทำให้เด็กมีความเข้มแข็ง แม้ในยามชีวิตเขามีอุปสรรค ตกระกำลำบาก หรือขาดความพร้อมบางอย่าง 

"เด็กกลุ่มนี้จะไม่ย่อท้อ และมักเปลี่ยนอุปสรรคให้เป็นพลังในการแก้ปัญหา ดังนั้น จึงไม่ควรเลี้ยงลูกให้สบาย หรืออุ้มชูช่วยเหลือมากจนเกินไป ต้องพยายามให้เขาฝึกทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง โดยมีพ่อแม่คอยให้คำแนะนำ สนับสนุน แสดงความชื่นชมและให้กำลังใจเป็นระยะ"

ดูละครแล้วย้อนดูตัว ก่อนจะกลายเป็น "พ่อแม่รักแกฉัน" แบบ "ยายแล" ที่สุดท้ายคนที่เสียใจที่สุดกับลูกแบบลำยองก็คือ "ผู้เป็นแม่" นั่นเอง


เลี้ยงลูกแบบยายแล พ่อ-แม่รังแกฉัน

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์