ผักกาดหัว (ไช้เท้า) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Raphanus sativus subsp. longipinnatus วงศ์ brassicaceae ชาวญี่ปุ่นนิยมนำหัวไช้เท้าดิบมาขูดฝอยลงในซีอิ๊ว ใช้เป็นน้ำจิ้ม
เพราะเชื่อว่าช่วยกระตุ้นน้ำย่อยได้ดี ส่วนชาวจีนนิยมแปรรูปเป็นหัวไช้โป๊เก็บไว้กินตลอดปี แพทย์แผนจีนจัดหัวไช้เท้าอยู่ในกลุ่มหยาง คือเป็นอาหารร้อน ห้ามกินเวลามีไข้ ส่วนตำรายาพื้นบ้านของอินเดีย ระบุว่า การกินหัวไช้เท้าช่วยให้นอนหลับและแก้โรคประสาทได้
หนังสือสมุนไพร 91 ชนิดพิชิตโรค ชุดตำรายาล้ำค่าของหมอโฮจุน UNESCO คัดเลือกให้เป็นมรกดความทรงจำแห่งโลก ระบุว่า หัวไช้เท้า ส่วนที่นำมาทำเป็นยาได้ คือส่วนหัว มีรสชาติหวานและเผ็ด มีฤทธิ์เย็นเล็กน้อย ดีต่อลมปราณปอดและลมปราณกระเพาะอาหาร ช่วยย่อยอาหาร ลดความดัน ละลายเสมหะ และถอนพิษ
สารสกัดจากหัวไช้เท้าช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย บรรเทาโรคบิด เลือดกำเดาไหล ปวดศีรษะ มีเสมหะ ไอ อาหารไม่ย่อย เป็นต้น
ดื่มน้ำหัวไช้เท้าสกัดสด ๆ วันละ 30-90 มก. หรือจะต้มแล้วดื่มน้ำก็ได้ หรือนำหัวไช้เท้าตากแห้งมาต้มดื่มวันละ 10-30 กรัม ก็จะได้ผลดี เมล็ดหัวไช้เท้าแก้อาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืดท้องเฟ้อ เรอเหม็นเปรี้ยว ปวดท้อง
โดยนำเมล็ดหัวไช้เท้ามาต้มหรือบดเป็นผง กินวันละ 6-12 กรัม จะช่วยทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี
ถ้าอาหารไม่ย่อย ท้องเสีย มีอาการไอ หรืออยากขับเสมหะ ให้นำหัวไช้เท้าหั่นละเอียด 300 กรัม และข้าวสวย 80 กรัม ต้มรวมกันจนเละเป็นโจ๊ก กินร้อน ๆ เป็นอาหารเช้าและเย็น อาการจะดีขึ้น ในผู้สูงอายุที่มีอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง แน่นหน้าอก ไอ และมีเสมหะเยอะ ก็กินได้เหมือนกัน หัวไช้เท้าจะช่วยแก้อาการจุกและแน่นหน้าอก ความอยากอาหารลดลงและรู้สึกอิ่ม แม้ยังไม่ได้กินอะไร รวมทั้งบรรเทาโรคเบาหวานในผู้สูงอายุ
ข้อควรระวัง หากไม่มีอาการเจ็บป่วย ห้ามกินเมล็ดหัวไช้เท้า และห้ามใช้คู่กับโสมคน (เหรินเซิน) คือ เมื่อกินเมล็ดหัวไช้เท้าแล้วห้ามกินโสมคนเด็ดขาด