ทำไมตัวอักษรในแป้นพิมพ์ทั้งของเครื่องพิมพ์ดีดและคอมพิวเตอร์ ถึงไม่เรียงกันตามลำดับอักษร A B C เป็นข้อสงสัยที่เราใช้แป้นพิมพ์นั้นอยู่แทบทุกวัน วันนี้มีคำตอบที่ใครยังไม่รู้ จะได้ค้นพบคำตอบให้หายข้อสงสัยได้เลยครับ...
สำหรับการเรียงอักษรบนแป้นพิมพ์ในปัจจุบันนั้นส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการเรียงที่เรียกว่า QWERTY (คิวเวอร์ตี้) ที่เรียกกันอย่างนี้เพราะเป็นการนำอักษร 6 ตัวแรก (เมื่อนับจากซ้ายมาขวา) ของแป้นพิมพ์ที่เป็นตัวอักษรแถวบนมาต่อกัน และถ้าหากจะถามว่าทำไมถึงต้องเรียงแบบนี้ เราคงต้องย้อนกลับไปในอดีตกันซะหน่อย
เริ่มกันที่การเรียงอักษรของภาษาอังกฤษบนแป้นพิมพ์ การเรียงลำดับอักษรของแป้นพิมพ์ในปัจจุบันนั้น มีที่มาจากข้อจำกัดที่เกิดกับเครื่องพิมพ์ดีดในยุคแรก ๆ ที่ยังจัดแป้นพิมพ์แบบเรียงตามลำดับตัวอักษร คือ เมื่อคนที่พิมพ์ดีดได้คล่องและเร็วมาพิมพ์จะทำให้ก้านพิมพ์ดีดขัดกันอยู่เสมอ ต่อมา คริสโตเฟอร์ ลาแธม โชลส์ วิศวกรเครื่องกลชาวสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ดีดสมัยใหม่รายแรกและได้รับสิทธิบัตรในปี 1868 จึงทำการเรียงลำดับตัวอักษรเสียใหม่ด้วยการแยกตัวอักษรที่มักใช้มาผสมเป็นคำ ร่วมกันบ่อยๆ ออกไปอยู่กันคนละฝั่งของแป้นพิมพ์ เพื่อทำให้นักพิมพ์ดีดพิมพ์ได้ช้าลงกว่าเดิม จะได้ไม่เกิดปัญหาก้านพิมพ์ขัดกันอีก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกผู้คนยังคงไม่นิยมเครื่องพิมพ์ดีดของเขามากนัก ทำให้โชลส์ตัดสินใจขายสิทธิบัตรดังกล่าวให้กับทางบริษัท เรมิงตันอาร์มคอมพานี ในปี 1973 ซึ่งปรากฏว่าหลังจากที่ทางเรมิงตันผลิตเครื่องพิมพ์ดีดออกมาจำหน่าย ความนิยมในตัวเครื่องพิมพ์ดีดกลับเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
ในเวลาต่อมา ปรากฏว่ามีผู้พยายามจัดเรียงตัวอักษรบนแป้นพิมพ์เป็นแบบต่างๆ ซึ่งแบบที่ได้รับความนิยมมากหน่อยก็อย่างเช่น แบบ DVORAK ซึ่งเคยมีการบอกกล่าวกันว่าการเรียงในรูปแบบนี้จะทำให้พิมพ์เร็วขึ้น จนทางห้างร้านบริษัทหลายแห่งเริ่มนิยมกันอยู่พักหนึ่ง แต่ว่าในปี 1956 ทาง General Services Administration ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่หน่วยงานอื่นๆของรัฐ ได้ทำการศึกษาการจัดแป้นพิมพ์ทั้ง 2 แบบ และก็พบว่า การจัดแบบ QWERTY นั้น ทำให้พิมพ์ได้เร็วเท่ากับหรือมากกว่าแบบ DVORAK ทำให้ความนิยมของการจัดแป้นพิมพ์แบบ DVORAK ลดลงไป
ส่วนแป้นพิมพ์ตัวอักษรภาษาไทยนั้น นายเอดวิน แมคฟาร์แลนด์ เลขานุการส่วนพระองค์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดัดแปลงเครื่องพิมพ์ดีดภาษาอังกฤษเป็นเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทย แต่เนื่องจากภาษาไทยมีสระและวรรณยุกต์มาก จึงต้องใช้เครื่องพิมพ์ดีดที่มีแป้นมากกว่าชนิดอื่น คือยี่ห้อ สมิทพรีเมียร์ เมื่อ พ.ศ. 2438ต่อมา หมอยอร์ช บี แมคฟาร์แลนด์ (พระอาจวิทยาคม) ได้ปรึกษาและทำการค้นคว้ากับพนักงานบริษัท 2 คนคือ นายสวัสดิ์ มากประยูร และนายสุวรรณประเสริฐ เกษมณี (กิมเฮง) ใช้เวลา 7 ปีก็วางแป้นอักษรใหม่สำเร็จ ใน พ.ศ. 2474 สามารถพิมพ์ได้ถนัดที่สุดและรวดเร็วที่สุด ให้ชื่อว่าแบบ "เกษมณี"