เกิดเป็นคนไทยนี้แสนโชคดี โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ผลไม้หลากหลาย ฝรั่งต่างชาติยังต้องยกนิ้วให้มานักต่อนักแล้ว นี่หน้าลิ้นจี่เพิ่งจะหมดไปไม่ทันเท่าไหร่ ก็เห็น “ลำไย” ลูกโตๆ ทยอยออกมาวางเรียงรายขายยึดแผงเต็มตลาดไปหมดอีกแล้ว
แต่เพราะด้วยความหวาน กรอบ ยั่วยวนของ “ลำไย” ที่ไม่มีใครยอมปฏิเสธนี่ละสิ ซ้อนด้วยปัญหาที่ฝังเป็นความเชื่อมาตั้งแต่คุณพ่อคุณแม่ยังเป็นเด็กๆ ด้วยซ้ำ หลายคนคงเคยได้ยินบ่อยๆ เวลาป้อนลำไยเข้าปากลูกก็มักจะมีเสียงลอยตามมาว่า “อย่าให้ทานเยอะนะ เดี๋ยวลูกร้อนใน ตาแฉะ ขี้ตาเยอะ” ทำไมหนา…พอลำไยมาตาแดงตาแฉะต้องแผลงฤทธิ์ทุกที ถ้าใครๆ ก็ต่างคิดแบบนี้ แล้วใครจะช่วยอุดหนุนลำไยปีนี้อีกล่ะ
จากหลากหลายความเชื่อมากมายตั้งแต่การรับประทานลำไยแล้วร้อนใน ขี้ตาเยอะ ทำตาแฉะ แท้จริงตาแฉะในเด็กมีโอกาสเกิดได้ตลอดเวลานะคะ สาเหตุตาแฉะแท้จริงแล้วเกิดจากการที่ตาได้รับเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่ตามพื้น สนามหญ้า หรือแม้แต่ของเล่นที่เด็กๆ สัมผัสอยู่เป็นประจำ ซึ่งโดยปกติแล้วเจ้าเชื้อที่ว่าก็คงไม่มีความสามารถกระโดดขึ้นมาหาตาของเด็กเอง ถ้าไม่ใช่ตัวเด็กเองใช้มือน้อยๆ ที่เคยไปสัมผัสเชื้อเข้ามาขยี้ตาโดยไม่ได้ทำความสะอาดหรือล้างมือ
พอเมื่อตาได้รับเชื้อเข้า ก็จะทำให้เยื่อบุตาอักเสบเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีแดง มีขี้ตาน้ำตาไหล ที่เราเรียกว่าเด็กตาแฉะ ซึ่งการดูแลรักษาโดยทั่วไปแพทย์จะให้ใช้ยาปฏิชีวนะหยอดหรือป้ายตา ร่วมกับการพักสายตาโดยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์จะหาย ไม่ควรขยี้ตาเพราะอาจทำให้กระจกตาดำเป็นแผลและตาบอดได้ ไม่ควรปิดตาเพราะทำให้เชื้อโรคสะสมในตา
ส่วนอีกความเชื่อที่บอกกันว่าการเอาน้ำนมแม่หยอดตาหรือใช้น้ำยาล้างตารักษา ก็ไม่ใช่การรักษาที่ถูกต้อง ยิ่งถ้าเจอใครตาแฉะตาแดงต้องรีบแลบลิ้นใส่ จะได้ไม่ติดตาแดง ก็ไม่มีมูลความจริง เพราะโรคนี้สามารถแพร่เชื้อได้โดยการสัมผัสหรือไปคลุกคลีกับผู้ป่วยเท่านั้นนะคะ การป้องกันทำได้ง่ายๆ คุณพ่อคุณแม่สอนเด็กๆ ให้งดการใช้ผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่น ทุกครั้งที่จับตาควรล้างมือให้สะอาด ในช่วงที่เป็นตาแดงควรงดการลงเล่นน้ำในสระ เพราะจะแพร่กระจายเชื้อลงในน้ำได้
รวมถึงหน้าลำไยมาถึงแล้ว หมอจึงถือโอกาสนี้ฝากผ่านไปยังคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองว่า ในครั้งต่อไปถ้าจะให้เด็กๆ ได้รับประทานลำไยได้อย่างสบายใจ ไม่หวั่นหรือหวาดกลัวว่าลำไยจะทำลูกร้อนในแล้วตาแฉะ ก็เพียงแต่ให้นำลำไยที่เพิ่งซื้อมาจากตลาดไปล้างทำความสะอาดเศษดิน เศษสกปรกที่อาจมีเชื้อโรคปนเปื้อน หรือสารเคมีตกค้างติดมาให้สะอาดก่อนรับประทาน รับประทานลำไยครั้งหน้าจะได้สบายใจไม่ร้อนในจนตาแฉะ แล้วยังถือว่าเป็นการช่วยเกษตรกร ช่วยชาติไทย ในการช่วยบริโภคผลไม้ไทยได้ดีอีกด้วยค่ะ
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์