ใครที่มีโรคภูมิแพ้ เป็นโรคประจำตัว คงเข้าใจดีว่า เมื่ออาการกำเริบขึ้นนั้นจะรู้สึกไม่สบายตัว เช่น มีอาการระคายเคืองตา ตาบวม น้ำตาไหล คัดจมูก น้ำมูกไหล หอบ มีผื่นคัน อาเจียน ท้องเสีย ใบหน้าบวม แตกต่างกันไป
โดยอาการของโรคภูมิแพ้ที่กำเริบขึ้นมานั้น เป็นเพราะร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งบางคนรู้ดีว่า ตนเองแพ้สิ่งใด ในขณะที่บางคนอาจยังไม่แน่ใจ
อย่างไรก็ตาม วิธีทางการแพทย์สามารถให้คำตอบได้ว่า อะไรเป็นสารก่อภูมิแพ้ต่อผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งนิตยสารประจำโรงพยาบาลเวชธานี เผยไว้ว่า มีการทดสอบโรคภูมิแพ้ 2 วิธี คือ "การทดสอบในร่างกาย" แบ่งเป็นการทดสอบทางผิวหนังโดยนำเอาน้ำสกัดของสารก่อภูมิแพ้มาหยดลงบนผิวหนังบริเวณท้องแขนหรือแผ่นหลังแล้วใช้ปลายเข็มกดลงบนผิวหนัง
เพื่อให้น้ำยาซึมซับลงไป ทิ้งไว้ราว 20 นาที ตุ่มใดที่ผู้ป่วยแพ้จะมีรอยนูนคล้ายตุ่มยุงกัด แพทย์จะวัดขนาดของรอยนูน สำหรับการทดสอบทางผิวหนังนี้ ผู้ป่วยควรงดใช้ยาแก้แพ้ แก้คัน ยาลดน้ำมูก ยาเสริมภูมิ และยารักษาภูมิแพ้อย่างน้อย 7 วัน ก่อนตรวจ
อีกรูปแบบของการทดสอบในร่างกาย คือ ทดสอบโดยการท้าทาย โดยนำสารก่อภูมิแพ้ปริมาณเล็กน้อยตามที่คำนวณได้มาทดสอบ อาจใช้การรับประทาน ฉีด หรือทา แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณ
ส่วนวิธีที่สอง "การทดสอบนอกร่างกาย" เช่น การเจาะเลือดไปตรวจ ที่จะใช้ในกรณีที่ไม่สามารถหยุดยาได้ แต่อย่างไรก็ตาม การทดสอบโรคภูมิแพ้ควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในโรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัย