ผมขับรถผ่านสี่แยกนั้นทุกวัน ทุกครั้งที่รถจอดรอสัญญาณไฟเขียว ผมคิดถึงงานของผม
ผมคิดไม่ออกว่าจะขายสินค้าที่ผมรับผิดชอบอย่างไร บอกตรง ๆ สินค้าในสต็อคตัวที่ผมต้องขายนี้เป็นข้าวพันธุ์ที่มีเม็ดไม่สวย และมีสารฆ่าแมลงเจือปน ไม่น่าเชื่อว่าเป็นข้าวไทย มันดูเหมือนข้าวที่ปลูกกลางทะเลทรายสะฮารามากกว่า ผมบอกเจ้านาย "หาจุดขายไม่เจอเลย ไม่ได้คุณภาพ ไม่มีอะไรที่ดีกว่าสินค้าคู่แข่งเลยสักจุดเดียว"
เจ้านายกล่าวเพียงว่า "ผมไม่สนใจ คุณต้องขายมันให้ได้ มิฉะนั้น..." คำว่า 'มิฉะนั้น' ของเขาอาจหมายถึงการหางานใหม่ของผม แม้ว่าผมทำงานดีมากี่ครั้งแล้วก็ตาม ไม่มีใครจดจำความดีหลายครั้งของคุณได้เท่ากับความล้มเหลวเพียงครั้งเดียว นี่เป็นสัจธรรมในโลกของผม
ความคิดผมสะดุดลงเมื่อเห็นเด็กชายวัยไม่น่าจะเกินหกเจ็ดขวบถือแปรงฟองน้ำกับถังพลาสติคใบเล็กตรงมาหาผม เสื้อผ้ามอมแมมพอกับใบหน้า ผมโบกมือไล่ เด็กคนนั้นยกมือไหว้ และยืนริมหน้าต่างรถนิ่ง ผมนิ่ง เขาก็นิ่งราวกับกำลังทดสอบความอดทน
ผมเกลียดเด็กพวกนี้ คุณก็รู้มีเด็กแบบนี้เกือบทุกสี่แยก ผมเชื่อว่าคุณก็คงจะเคยมีประสบการณ์กับเด็กพวกนี้สักครั้งหรือสองครั้ง เปล่า! ผมไม่ได้ต่อต้านเด็กที่มารบเร้าขอเช็ดกระจกรถของผม บางทีก็ยัดเยียดขายพวงมาลัย บางครั้งก็ขายหนังสือพิมพ์ หรือผ้าสีขาว ผมเชื่อว่าน่าจะมีเด็กแบบนี้ตามสี่แยกสักหลายพันคนในกรุงเทพฯเป็นแน่ ปัญหาของผมคือทำอย่างไรไม่ให้เด็กทำให้กระจกรถของผมสกปรกไปกว่าเดิม รถของผมยังใหม่
ครั้งหนึ่งผมตวาดไล่เด็กไปด้วยโทสะเมื่อเขาเช็ดรถของผมด้วยผ้าเก่าเขรอะ ผมไขกระจกรถลงมาหยิบเหรียญบาทยื่นให้เขาหนึ่งเหรียญ เขารับเหรียญนั้นไปแล้วยังยืนมองหน้าผมนิ่ง ผมเลิกคิ้วถาม "ไง? ไม่พอหรือ?"
เด็กว่า "น้า ขอซักสิบบาทเถอะ"
ไฟจราจรกำลังเปลี่ยนเป็นสีเขียว ผมหยิบเหรียญสิบบาทชูขึ้นให้เขาเห็น ยิ้ม และปล่อยเหรียญนั้นตกลงพื้นถนนขณะที่เคลื่อนรถของผมออกไป ผมได้ยินเสียงเบรคจากรถที่ตามมา ได้ยินเสียงกระแทกกันดังโครม แต่ผมไม่ได้หันกลับไปมอง
|
|
ผมขับรถผ่านสี่แยกนั้นในวันต่อมา งานอยู่ในหัวขณะที่รถติดเป็นแถวยาว ยังคิดหาวิธีขายข้าวพันธุ์ 'สะฮารา' ของผมไม่ได้
เด็กหญิงวัยสิบกว่าขวบคนหนึ่งหน้าตามอมแมมสวมหมวกแก๊ปสีเขียวเดินมาหา ผมทำสัญญาณว่าไม่ต้องการให้เธอเช็ดกระจกรถของผม เธอไม่สนใจ อีกครั้งผมเลื่อนกระจกรถลง ยื่นเหรียญบาทให้เด็ก บอกว่า "เอานี่ไป แล้วไม่ต้องเช็ด"
"น้าขอหนูสักสิบยี่สิบบาทเถอะ กำลังเดือดร้อน"
"เป็นเด็กเป็นเล็ก เดือดร้อนอะไรกันนักหนา"
เด็กหญิงบอก "น้องหนูถูกรถชนเมื่อวาน โคม่าอยู่ที่โรงพยาบาล" ผมสะดุ้ง นึกถึงเด็กชายที่ผมแกล้งเมื่อวาน ผมยุ่งกับงานจนลืมเรื่องนี้ไปสนิท "ถูกรถชนที่ไหน?" "ที่สี่แยกนี้แหละน้า" "ใครชน?" "รถคันนึง เบรคไม่ทัน แดงก้มลงเก็บตังค์บนพื้น เลยถูกชน" ผมควักธนบัตรหนึ่งร้อยบาทให้เด็กหญิง แล่นรถออกไป ในใจเต็มไปด้วยความคิดต่าง ๆ
ผมนอนไม่หลับทั้งคืน ไม่อยากเชื่อว่าเด็กชายคนหนึ่งบาดเจ็บสาหัสเพราะเงินสิบบาท ที่สำคัญคือผมเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์นี้อย่างเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้
วันต่อมาผมขับรถผ่านไปที่แยกนั้นอีก แต่ไม่พบเด็กหญิงที่แจ้งข่าวคนนั้น ผ่านไปอีกสองวัน ผมถามเด็กหญิงคนนั้น "น้องชายเธอเป็นยังไงแล้ว?" "แดงตายแล้วค่ะน้า เพิ่งเผาเมื่อวานนี้เอง" ใจผมสั่นหวิว ควักธนบัตรสองพันบาทยื่นให้เด็กหญิง "เอาไปเป็นเงินทำบุญให้น้องเถอะ"
ผมนอนไม่ หลับอีกหลายคืน ไม่เคยรู้สึกแย่อย่างนี้มาก่อน ความผิดของผมแท้ๆ หลายวันต่อมาผมไม่พบเด็กหญิงคนนั้นอีกเลย สอบถามจากเด็กคนอื่น ก็ไม่มีใครทราบ เด็กชายคนหนึ่งชี้มือไปที่ซอยเล็กริมถนน บอก
"บ้านเขาอยู่ในซอยนั่นแหละน้า อยู่สุดซอย บ้านหลังคาสังกะสีทาสีเขียว"
ผมตัดสินใจตามไปที่บ้านของเด็กหญิงคนนั้น ขณะที่เดินไปตามทางดินลูกรังในซอย ผมไม่อยากเชื่อว่าหลังตึกระฟ้ามีสลัมซ่อนอยู่
ผมหาบ้านหลังคาสังกะสีทาสี เขียวไม่ยาก ผมยืนหลบมุมที่หน้ากองโอ่งครู่หนึ่ง ขณะพยายามนึกหาคำพูดที่เหมาะสมเมื่อเจอเด็กหญิง พลันได้ยินเสียงเด็กหญิงคนนั้น
"เอ้า กินซะ ไม่ได้กินอย่างนี้มานานเท่าไหร่แล้วนี่"
เสียงเด็กชายคนหนึ่งว่า "อร่อยจังเลยพี่"
ผมชะโงกหน้าออกไปดูทันที เป็นเด็กชายแดงที่ 'ถูกรถชนตายไปแล้ว' คนนั้นนั่นเอง! คนตายคงไม่สามารถยิ้มและกินอาหารอย่างนี้!
เด็กสองคนนี้ไม่ได้ไปทำงานหลายวันเพราะเงินสองพันบาทของผม เด็กหญิงว่า "ขอบคุณน้าคนนั้นมากเลยที่ให้ค่าทำบุญมาตั้งเยอะ"
"พี่ไปขอบคุณเขาทำไม เขาแกล้งแดงรู้ไหม"
"แต่เขาก็คงรู้สึกแย่ ไม่งั้นไม่ให้เงินมาตั้งเยอะ"
"พี่เก่งนะที่คิดออกมาได้ ทำให้เขารู้สึกผิด แล้วยังได้เงินมาตั้งสองพัน"
ผมเดินถอยกลับออกมา หัวเราะหึ ๆ ในใจรู้สึกปลอดโปร่งอย่างบอกไม่ถูก ผมน่าจะรู้ว่าเด็กพวกนี้มีสัญชาตญาณเอาตัวรอดสูงกว่าผมเสียอีก
ผมบอกที่ประชุมในวันต่อมา "มีทางเดียวที่จะขายข้าวของเราคือทำโฆษณาให้คนดูรู้สึกแย่ แบบ Emotional Blackmail น่ะครับ เสนอภาพชาวนาที่กำลังอดตาย ตายคาทุ่งเลย เอาแรง ๆ สื่อให้คนดูรู้ว่า ถ้าเขาไม่ซื้อข้าวของเรา ครอบครัวชาวนาที่มีเด็กเล็กเด็กน้อยอดตายแน่ ๆ" ผมได้ยินเสียงปรบมือในห้องประชุม
|
|
ปรัชญาหน้ากระจกรถ
จากรวมเรื่องสั้นชุด หนึ่งวันเดียวกัน (life in a day)
ขอบคุณวินทร์บุ๊คคลับ