อยากรู้ว่าปลาทะเลไทยที่มีอันตราย มีปลาอะไรบ้าง
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีข้อมูลเรื่องปลาอันตรายอยู่ในวารสารเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดย วันทนา อยู่สุข และ ธีระพงศ์ ด้วงดี ระบุถึงปลาทะเลที่ก่อให้เกิดอันตราย โดยเฉพาะจากการสัมผัสว่า ด้วยปลาจำนวนมากมีอวัยวะป้องกันตัวในรูปแบบต่างๆ เช่น ฟัน หนาม ก้านครีบแข็ง ซึ่งเมื่อไปทิ่ม แทงหรือตำจะทำให้เกิดบาดแผล ปลาบางพวกยังสามารถสร้างสารพิษที่ทำให้มีอาการเจ็บปวดรุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ พิษเหล่านั้นสร้างโดยต่อมพิษที่อยู่ในเนื้อเยื่อที่หุ้มหนาม หรือหนังที่ปกคลุมบริเวณหนาม หรือที่ตัวหนาม
ปลาทะเลที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์โดยการทิ่ม แทง ตำ มีเป็นจำนวนมาก จำแนกออกเป็น 7 กลุ่ม ดังนี้
1.กลุ่มปลา กระเบน ปลา กระเบนมีลำตัวแบน ครีบอกขนาดใหญ่แผ่ออกข้างตัว ทำให้เห็นลำตัวเป็นแผ่น รูปร่างเกือบกลมคล้ายว่าวหรือจาน ส่วนหางเรียวคล้ายแส้แยกออกจากลำตัวเห็นชัดเจนมีหนามแหลมบริเวณโคนหางด้านบน ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันในแต่ละชนิด หนามเป็นแท่งแบน ยาว ปลายแหลม ขอบทั้งสองข้างมีรอยหยักเป็น ฟันเลื่อย ด้านบนมีร่องจากโคนถึงปลาย กลุ่มเซลล์สร้างพิษหรือต่อมพิษ อยู่ใต้ผิวชั้นนอก
ปลากระเบนที่มีพิษรุนแรงในน่านน้ำไทย ได้แก่ วงศ์ปลา กระเบนธง และวงศ์กระเบนนก ผู้ที่ถูกหนาม หรือเงี่ยงปลา กระเบน แผลมีลักษณะคล้ายแผลมีดบาด และเพราะเงี่ยงปลา กระเบนมีลักษณะคล้ายฟันเลื่อย เมื่อชักเงี่ยงออกจากบาดแผล จึงทำให้แผลฉีกมากขึ้น หลังถูกตำจะมีอาการปวดเป็นระยะๆ ต่อมาแผลจะอักเสบ บวม อย่างไรก็ตาม ปลากระเบนไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าว อันตรายมักเกิดจากที่คนเหยียบปลากระเบนที่ฝังตัวอยู่ตามพื้นทรายหรือทรายปนโคลน
2.กลุ่มปลาดุกทะเล และ ปลากดทะเล ปลาดุกทะเลเป็นปลาไม่มีเกล็ด ลำตัวปกคลุมด้วยเมือกลื่น รูปร่างเรียวยาว ด้านข้างแบน ส่วนหัวแบนลง มีหนวด 4 คู่ อยู่ที่บริเวณรูจมูก 1 คู่ ริมฝีปาก 1 คู่ และใต้คาง 2 คู่ ครีบหลังอันที่สอง ครีบก้น และครีบหางติดต่อกัน ครีบหลังและครีบอกมีก้านครีบแข็ง ซึ่งมีลักษณะเป็นหยักคล้ายฟัน เลื่อยขนาดใหญ่แข็งแรง ส่วนปลากดทะเลเป็นปลาไม่มีเกล็ด ลำตัว มีเมือกลื่น หัวแบนปกคลุมด้วยกระดูกเป็นสันและเป็นตุ่มเม็ดหยาบๆ ครีบหางรูปส้อม ครีบหลังอันแรกและครีบอกมีก้านครีบแข็งซึ่งมีลักษณะเป็นหยักคมคล้ายฟันเลื่อยขนาดใหญ่ มีต่อมพิษอยู่ที่ผิวของเยื่อที่คลุมก้านครีบ และที่ตอนกลางของกระดูกก้านครีบ
อันตรายจากปลากลุ่มนี้เกิดจากไปสัมผัสโดนก้านครีบแข็งบริเวณครีบหลังและครีบอก โดยเฉพาะขณะที่จับปลาเพื่อปลดออกจากเครื่องมือประมง เช่น เบ็ด แห หรืออวน หรืออาจเกิดจากไปเหยียบถูกมัน เนื่องจากทั้งปลาดุกและปลากดทะเลเป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามหน้าดิน และอาจมาหากินตามที่น้ำตื้นหรือปากแม่น้ำ พิษของปลากลุ่มนี้มีผลคล้ายกับพิษของปลากระเบน เมื่อถูกตำจะเจ็บปวดทันที ปลาขนาดเล็กมีผลทำให้เจ็บปวดนานประมาณ 30-60 นาที ส่วนปลาขนาดใหญ่อาจมีผลทำให้เจ็บปวดนานถึง 48 ชั่วโมง และบาดแผลบวมอักเสบ ฉบับพรุ่งนี้ (18 ธ.ค.) พบกับอีก 5 กลุ่มปลาทะเลอันตราย