หอการค้าไทยเผยธุรกิจดาวรุ่งปี"57 การแพทย์-ความงามมาแรงสุด ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแรงงานเตรียมเป็นดาวร่วงจากเหตุขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจ 10 อันดับธุรกิจเด่นในปี 2557 ว่า ธุรกิจทางการแพทย์และความงาม เป็นธุรกิจเด่น
ที่สุดด้วยคะแนน 91.4 เนื่องจากกระแสการให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพและการดูแลความงามมีมากขึ้น ประกอบกับราคาบริการทางความงามของประเทศไทยไม่แพงในสายตาของต่างชาติ ส่งผลให้ธุรกิจทางการแพทย์และความงามโดดเด่น3 ปีต่อเนื่อง
ส่วนอันดับที่ 2 คือ ธุรกิจด้านเทคโนโลยีสื่อสาร หลังจากมีการประมูลและรับใบอนุญาตในการดำเนินการ
อันดับที่ 3 คือ ธุรกิจด้านสื่อโทรทัศน์ รองรับการเกิดทีวีดิจิทัล
อันดับที่ 4 คือ สถานีบริการ จำหน่ายน้ำมัน ก๊าซ NGV และ LPG
อันดับที่ 5 ธุรกิจพลังงานและพลังงานทดแทน
อันดับที่ 6 ธุรกิจด้านอาหาร
อันดับที่ 7 ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่
อันดับที่ 8 ธุรกิจด้านการสื่อสาร และธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์
อันดับที่ 9 ธุรกิจสถาบันการเงิน และธุรกิจก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง
อันดับที่ 10 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คอนโดมิเนียม และธุรกิจด้านโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างทั้ง
ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน การปรับตัวรับการลงทุนใหม่ก่อนเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 และการปรับเทคโนโลยีการสื่อสารสู่เทคโนโลยี 3G ทำให้มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นธุรกิจเด่นในปี 2556
สำหรับธุรกิจดาวร่วงในปี 2556 เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงาน เพราะได้รับผลกระทบจากค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น และอาจจะมีธุรกิจปิดกิจการถึง 200,000 ราย ซึ่งปัญหาจะชัดเจนในไตรมาส 2 ปี 2556 หากรัฐบาลไม่ช่วยเยียวยาเอสเอ็มอีโดยเฉพาะธุรกิจของเด็กเล่น มีคะแนนมาอันดับที่ 1 รองลงมา คือ ธุรกิจโฮมสเตย์ ร้านค้าโชห่วย ธุรกิจด้านหัตถกรรม สิ่งทอผ้าผืน ผักและผลไม้อบแห้ง เครื่องหนัง เสื้อผ้า ที่ไม่เน้นฝีมือและการออกแบบ ธุรกิจผลิตรองเท้า และอุตสาหกรรมฟอกย้อม
นายธนวรรธน์กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2557 น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีนี้ โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจะขยายตัว 4.5% เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 3% โดยภาคการส่งออกขยายตัว 6.9% เพิ่มขึ้นจากปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 0.5% ภาคการบริโภคภายในประเทศขยายตัว 3% จากปีนี้ 1.9% ภาคการลงทุนขยายตัว 6.9% จากปีนี้ขยายตัว 3.7% อุตสาหกรรมจะขยายตัว 5.9% จากปีนี้ จะขยายตัว 0.9% ภาคเกษตรขยายตัว 2.4% จากปีนี้ 0.7% และเงินเฟ้อขยายตัว 3.% จากปีนี้คาดว่าจะอยู่ในระดับ 2.2%
"ปัจจัยเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังคงต้องติดตามสถานการณ์การเมืองในประเทศ และภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก หากปัจจัยดังกล่าวไม่รุนแรง มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ถึง 5% จากที่คาดว่าจะเติบโต 4.5% เพราะการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 20% จะช่วยกระตุ้นจีดีพีให้เติบโตเพิ่มอีก 0.3-0.5% ขณะที่การส่งออกในปีหน้าจะ
ดีขึ้น เป็นการขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะฟื้นตัว และเศรษฐกิจเอเชียขยายตัวได้ดี ส่วนการบริโภคในประเทศการลงทุนขยายตัวน่าจะเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ"