ไปเจอบทความน่าสนใจ บนเว็บไซต์ของซีเอ็นเอ็น ที่เขียนโดย "แบรนดอน กริกส์" ว่าด้วยเรื่อง 7 วิธีในการใช้สังคมออนไลน์ ปี 2014 เห็นว่ามีความน่าสนใจดี ก็เลยหยิบมาแปลให้น้องๆ ได้อ่านกัน เผื่อไว้เป็นแนวทางในการใช้สื่อสังคมออนไลน์สำหรับปีนี้
ข้อแรก คือ อย่าโพสต์รูปอาหาร "ทุกจาน" ที่กิน ก็เข้าใจอยู่ว่าอาหารหน้าตาน่ากิน และมันดูดีมาก แต่บางครั้งเราอาจจะลืมไปว่า การหยิบมือถือขึ้นมาถ่ายรูปอาหารนั้น ไม่ได้จบแค่ถ่ายรูป เพราะเรายังต้องเสียเวลาในการอัพโหลด เสียเวลากินของเพื่อนร่วมโต๊ะ ร้านอาหารบางร้านถึงขั้นกับขอความร่วมมือไม่ให้ลูกค้าถ่ายรูปอาหารบนโต๊ะแล้ว เพื่อการรับประทานอาหารที่ดีขึ้น ไม่ถูกเบียดบังจากการ "ถ่ายภาพ"
ข้อสอง คือ "คิดก่อนทวีต" การส่งข้อความทางทวิตเตอร์ หรือสื่อสังคมออนไลน์ใดๆ นั้น ที่ทำได้อย่างง่าย แต่อาจจะส่งผลกระทบกับชีวิตในภายหลังได้ มีการยกตัวอย่างการส่งข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ ของคนดังหลายคนในสหรัฐ ที่ทวีตข้อความไม่เหมาะสมออกไป และรีบลบในภายหลัง แต่ข้อความนั้นก็ได้เผยแพร่ออกไปไกลแล้ว และส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาไปอีกยาว เพราะฉะนั้น ก่อนจะโพสต์ข้อความอะไร ต้องคิดเยอะๆ เข้าไว้
ข้อสาม "อย่าแท็กภาพไม่เหมาะสม" อย่างเช่น ไปได้ภาพโป๊ของสาวนางหนึ่งในงานปาร์ตี้มา แล้วก็เลยอยากให้คนอื่นเห็นด้วย เป็นเรื่องแน่นอน เพราะสาวนางนั้นสามารถฟ้องร้องคุณได้ จะโพสต์ภาพที่่อาจมีปัญหาของคนอื่นขึ้นสื่อสังคมออนไลน์ ควรจะถามความสมัครใจของเจ้าของก่อน เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเองด้วย
ข้อสี่ "ตรวจสอบความถูกต้องก่อน" ตัวอย่างที่เห็นชัด คือเรื่องข่าวการตายของดาราดัง ที่มีออกมาบ่อยมาก แต่จริงๆ แล้วไม่มีมูลความจริงเลย เพราะฉะนั้นตรวจสอบข้อมูลให้แน่นอนก่อน แล้วค่อยนำข่าวนั้นมาโพสต์ต่อ
ข้อห้า "จำไว้ว่าอย่ามากจนเกินไป" เช่น แมวของเราน่ารัก เลยอยากอัพรูปขึ้นอินสตาแกรมชั่วโมงละ 7 รูป แต่เชื่อเถอะ มันเยอะเกินไปสำหรับการอัพอะไรเรื่องเดียวกันมากมายขนาดนั้น เหมือนเราไปยัดเยียดข้อมูลที่มากเกินไปให้กับคนที่อยู่ในแวดวงเดียวกับเรา อัพแต่น้อย กำลังดี จะดีกว่า
ข้อหก "ถ่ายรูปตัวเองแบบพอดี" การถ่ายรูปตัวเอง หรือเซลฟี จะต้องเป็นการถ่ายรูปตัวเองที่เหมาะสม ไม่ใช่การแก้ผ้าอยู่หน้ากระจก แล้วเอามาอวดกัน มันไม่เหมาะ
และข้อเจ็ด "เป็นตัวคนที่แท้จริงของตัวเอง" คือต้องเข้าใจว่าเราเข้าไปทำอะไรในโลกสังคมออนไลน์ ถ้าน้องเข้าเฟซบุ๊กเพื่อแค่รอกด "ไลค์" หรือคอยตามอ่านคนอื่น ก็อาจจะไม่ใช่แนวทางของน้อง ก็ลองหันไปใช้อย่างอื่น เช่น ทวิตเตอร์ หรืออินสตาแกรม เป็นต้น
อ่านแล้วอย่าลืมเอาไปคิดๆ ก่อนจะใช้สื่อสังคมออนไลน์ เพื่อความปลอดภัยนะจ๊ะ