มีการทำวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง สำหรับ "อีริคสัน คอนซูเมอร์แล็บ" ล่าสุดเปิดเผยถึง 10 แนวโน้มสำคัญของพฤติกรรมผู้บริโภคในปี 2557 และอนาคตมากกว่า 15 ปีที่ "อีริคสัน คอนซูเมอร์แล็บ" ทำการวิจัย สำรวจคุณค่า พฤติกรรม และแนวทางการใช้งานของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์ และบริการด้านไอซีทีด้วยการสัมภาษณ์ผู้คนในแต่ละปีมากกว่า 100,000 คน ในกว่า 40 ประเทศ และ 15 เมืองใหญ่
"ไมเคิล บียอน" หัวหน้าฝ่ายวิจัย "อีริคสัน คอนซูเมอร์แล็บ" กล่าวว่า แนวโน้มที่สำคัญที่สุดที่สังเกตเห็นได้ คือ ความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในแอปพลิเคชั่น และบริการที่ครอบคลุมในหลายอุตสาหกรรมและหลายภาคส่วนของสังคม ซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตประจำวันได้10 แนวโน้มที่ว่ามีดังนี้
1."แอป" กำลังเปลี่ยนสังคมของเรา
การเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของสมาร์ทโฟนทั่วโลก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีการสื่อสารและใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสิ้นเชิง ปัจจุบันเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่มีการใช้สมาร์ทโฟนเพื่อประโยชน์ที่หลากหลายมากขึ้น และมีคนจำนวนมากที่กำลังแสวงหาแอปพลิเคชั่นเพื่อใช้ในหลายภาคส่วนหรือรูปแบบต่าง ๆของการใช้ชีวิตในสังคม ตั้งแต่การจับจ่ายซื้อของและสถานรับเลี้ยงเด็ก ไปจนถึงการสื่อสารกับหน่วยงานต่าง ๆ "แอป" กลายเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าชนิดของมือถือที่ใช้เสียอีก
2.ร่างกายเป็นรหัสผ่าน (Password) รูปแบบใหม่
เว็บไซต์ต่าง ๆ เริ่มขอรหัสผ่าน (Password) ที่ยาวขึ้น ประกอบไปด้วยตัวเลข ตัวอักษร และสัญลักษณ์อื่นจนทำให้แทบจำไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดความสนใจในการใช้เทคโนโลยีด้านชีวภาพเข้ามาทดแทน เช่น จากงานวิจัยพบว่า 52% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนต้องการใช้ลายนิ้วมือมากกว่ารหัสผ่าน และ 48% สนใจใช้การสแกนดวงตาเพื่อปลดล็อกหน้าจอ โดยรวมแล้วกว่า 74% เชื่อว่า สมาร์ทโฟนที่มีเทคโนโลยีด้านชีวภาพจะกลายเป็นกระแสหลักในปี 2557 และอนาคต
3.การวัดค่าต่าง ๆ ของร่างกาย
ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ จำนวนก้าว เป็นเพียงตัวอย่างการเริ่มต้นของสิ่งที่พวกเราต้องการวัดค่าจากตัวเราเอง โดยใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือ และอิงจากข้อมูลที่สร้างขึ้นเอง เพียงแค่เริ่มใช้แอปเพื่อบันทึกกิจกรรมที่ทำจะช่วยให้เข้าใจตนเองดีขึ้น และมีการพัฒนาแอปใหม่ ๆ ที่วัดค่ากิจกรรมต่าง ๆ อีกมาก
โดย 40% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟน ใช้โทรศัพท์บันทึกข้อมูลกิจกรรมการเคลื่อนไหว และกว่า 56% ต้องการวัดความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจโดยการใช้แหวนที่สวมใส่อีกด้วย
4.ความคาดหวังว่าจะมีอินเทอร์เน็ตทุกที่ (Internet Everywhere)
ประสบการณ์ในการใช้อินเทอร์เน็ตยังไม่สามารถเทียบเท่าบริการโทร.ในรูปแบบวอยซ์ (Voice Service) ที่น่าสนใจก็คือ ผู้ใช้สมาร์ทโฟนต่างตระหนักแล้วว่า จำนวนแท่งวัดความแรงของสัญญาณบนหน้าจอโทรศัพท์ไม่อาจเป็นเครื่องชี้วัดว่าจะได้รับบริการดาต้าหรืออินเทอร์เน็ตที่ดีได้ เนื่องจากแท่งวัดดังกล่าวอาจดีเพียงพอสำหรับบริการวอยซ์ แต่ไม่ดีพอสำหรับบริการอินเทอร์เน็ต จากการสำรวจเราพบว่า ผู้บริโภคมีความพึงพอใจต่อประสบการณ์ในการใช้อินเทอร์เน็ตบนรถไฟใต้ดินต่ำที่สุด
5.สมาร์ทโฟนช่วยลดความแตกต่างทางดิจิทัล
การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในระดับโลกถือว่าไม่เพียงพอและทั่วถึง ทำให้เกิดความแตกต่างในการเข้าถึงบริการดิจิทัล หรือที่เรียกว่า "The Digital Divide" การมีสมาร์ทโฟนราคาย่อมเยาย่อมหมายถึงการที่ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่มีราคาแพงในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอีกต่อไป ผู้ใช้โดยรวม 51% ทั่วโลกรู้สึกว่าโทรศัพท์มือถือคือการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุด และสำหรับคนจำนวนมากมันได้กลายเป็นเครื่องมือหลักในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต
6.ประโยชน์ของบริการออนไลน์มีมากกว่าความเสี่ยง
จากการที่อินเทอร์เน็ตกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกำลังแสดงผลให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น โดย 56% ของผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตทุกวัน มีความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว (Privacy Issues) แต่ก็แค่ 4% เท่านั้นที่กล่าวว่าจะใช้อินเทอร์เน็ตน้อยลง ผู้บริโภคมักเลือกใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงเหล่านี้ เช่น เพิ่มความระมัดระวังในการให้ข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์มากขึ้น เป็นต้น
7.วิดีโอออนดีมานด์
แม้จะมีสื่อวิดีโอให้เลือกมากขึ้น แต่มีแนวโน้มที่จะเลือกด้วยตนเองน้อยลง โดยในความเป็นจริงแล้วเพื่อนของเรามีผลอย่างยิ่งต่อการเลือกรับชมสื่อวิดีโอต่าง ๆ ของเรา โดยที่พบว่า 38% ของผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวว่า พวกเขาชมวิดีโอคลิปที่เพื่อนแนะนำอย่างน้อยหลายครั้งต่อสัปดาห์ นอกจากนั้นเพื่อนของเรายังมีผลต่อการเลือกอ่านบล็อกและการเลือกฟังเพลงอีกด้วย
8.ต้องการความชัดเจนในการใช้ดาต้า
ผู้บริโภคโดยรวมกว่า 48% เลือกใช้แอปเพื่อเข้าใจลักษณะการใช้ดาต้าของตนให้ดียิ่งขึ้น ในขณะที่ 41% ต้องการเพียงจะทราบว่าพวกเขาใช้ดาต้าไปเท่าไร โดย 33% ต้องการความมั่นใจว่าพวกเขาได้รับบิลหรือคิดเงินอย่างถูกต้อง และ 31% ไม่ต้องการใช้ดาต้าเกินค่าที่จำกัดไว้โดยผู้ให้บริการเครือข่าย งานวิจัยนี้ยังแสดงให้เห็นอีกว่า ผู้ใช้สมาร์ทโฟนนิยมใช้แอปเพื่อวัดความเร็วของสัญญาณเชื่อมต่อเป็นประจำอีกด้วย
9.เครื่องวัดเซ็นเซอร์ในสถานที่ต่าง ๆ
จากการที่บริการอินเทอร์เน็ตแบบอินเตอร์แอ็กทีฟ (Interactive Internet) กลายเป็นเรื่องธรรมดา ผู้บริโภคเริ่มคาดหวังเพิ่มขึ้นว่า สภาพแวดล้อมและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของพวกเขาก็ควรได้รับการตรวจสอบด้วย โดยเกือบ 60% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนเชื่อว่า ภายในปี 2559 เซ็นเซอร์จะถูกนำมาใช้ในเกือบทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่บริการด้านสาธารณสุข และการคมนาคมขนส่งสาธารณะ ไปสู่รถยนต์ บ้าน และสถานที่ทำงานของพวกเรา
10.ความสามารถในการเล่น หยุด และเล่นต่อในที่อื่น ๆ ได้
จากการสำรวจพบว่า 19% ของการใช้บริการสตรีมมิ่งเกิดขึ้นบนมือถือหรือแท็บเลต แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม โดยมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนสถานที่รับชมโทรทัศน์ไปมาให้เข้ากับชีวิตประจำวัน เช่น พวกเขาอาจเริ่มต้นรับชมสื่อที่บ้าน หยุดไว้แล้วดูต่อในขณะที่กำลังเดินทางไปทำงาน เมื่อมีการเปลี่ยนสถานที่ในลักษณะนี้จึงมักมีการเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้รับชมด้วย