ใครสงสัยบ้างว่า'ป๊อปคอร์น' มาอยู่คู่ 'โรงหนัง' ได้อย่างไร แล้วป็อปคอร์นมีที่มาอย่างไร
เมื่อพูดถึง 'ป็อปคอร์น' หรือข้าวโพดคั่ว หลายคนคงนึกถึงการรับประทานอย่างเพลิดเพลินขณะที่อยู่ในโรงภาพยนตร์หรือหน้า จอโทรทัศน์ แต่ทราบหรือไม่ว่า ป็อปคอร์นมีที่มาอย่างไร และทำไมถึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์คู่กับโรงภาพยนตร์
ชาวอินเดียนแดง ชนพื้นเมืองอเมริกันถือเป็นชนกลุ่มแรกที่กินข้าวโพดคั่ว เมื่อกว่า 5,600 ปีที่แล้ว โดยนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสพบหลักฐานสำคัญเป็นข้าวโพดคั่วในซากเมืองโบราณ หลายแห่ง เช่น เมืองอินคาในอเมริกาใต้พบหม้อดินปั้นพิเศษที่ใช้สำหรับคั่วข้าวโพด โดยสันนิษฐานว่าวิธีทำข้าวโพดคั่วสมัยก่อนทำโดยการฝังหม้อในทรายที่ร้อนจัด จากนั้นโรยเมล็ดข้าวโพดลงไปแล้วปิดฝา ความร้อนจากทรายจะทำให้ข้าวโพดแตกกลายเป็นข้าวโพดคั่ว นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำข้าวโพดคั่วมาร้อยเป็นเครื่องประดับสำหรับหัวหน้า เผ่าหรือนักรบอีกด้วย
ข้าวโพดคั่วแพร่หลายในยุโรปราวศตวรรษที่ 15 โดยโคลัมบัส นักสำรวจและนักเดินเรือชาวอิตาลี ผู้ค้นพบทวีปอเมริกาบันทึกไว้ว่า ชาวอินเดียนแดงนำช่อดอกไม้และเครื่องประดับศีรษะที่ทำด้วยข้าวโพดคั่วมาขาย ให้ลูกเรือของตน
ปลายศตวรรษที่ 19 อเมริกาเป็นประเทศแรกที่จำหน่ายข้าวโพดคั่วเป็นธุรกิจ โดยเลือกเฉพาะข้าวโพดพันธุ์ Zea mays L. Var. everta เนื่องจากเมล็ดมีเปลือกแข็งแต่เนื้อในเมล็ดนุ่ม เครื่องทำข้าวโพดคั่วเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1885 โดยนายชาลส์ เครเตอส์ ชาวเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ต่อมาในปี 1925 มีการผลิตเครื่องคั่วข้าวโพดแบบไฟฟ้าได้สำเร็จ ทำให้ข้าวโพดคั่วได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นไปอีก และข้าวโพดคั่วเริ่มกลายเป็นสัญลักษณ์คู่โรงภาพยนตร์ในช่วงศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในอเมริกาเติบโต มีโรงภาพยนตร์เปิดขึ้นหลายแห่ง โดยได้นำเครื่องทำข้าวโพดคั่วมาทำข้าวโพดคั่วขายให้ผู้เข้าชมในโรง ทำให้ข้าวโพดคั่วกลายเป็นสัญลักษณ์ควบคู่กับความบันเทิงในรูปแบบนี้มาจนถึง ปัจจุบัน และเมื่อโทรทัศน์เริ่มแพร่หลาย การกินข้าวโพดคั่วหน้าจอโทรทัศน์ก็ยังเป็นที่นิยมของชาวอเมริกันอีกด้วย
ที่มา : VoiceTV