เรื่องเล่าของอาม่า ตำนานที่มา...ตระกูล เจียรวนนท์


"เจียรวนนท์" หนึ่งในบรรดาตระกูลใหญ่ไม่กี่ตระกูลในเมืองไทยที่ทรงอิทธิพล โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ใครไม่รู้จัก "ธนินท์ เจียรวนนท์" ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นไม่มี ใครไม่รู้จัก "วัลลภ เจียรวนนท์" รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นไม่มี หรือแม้แต่รุ่นลูกรุ่นหลานอย่าง "มนู เจียรวนนท์" ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจียไต๋ จำกัด "ศุภชัย เจียรวนนท์" กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีเหตุให้คนในตระกูลเจียรวนนท์ทั้งหลายไปรวมกันพร้อมหน้าพร้อมตาที่สุสานประจำตระกูลสุสานบ้านบึง จังหวัดชลบุรี หลังจากที่มีพิธีย้ายสุสานจากที่เก่าคือจังหวัดราชบุรีมาอยู่ที่ใหม่จังหวัดชลบุรี

จุดเริ่มต้นตรงนี้ทำให้ได้รับแจกหนังสือเล่มหนึ่งที่บอกเล่าความเป็นมาของตระกูลเจียรวนนท์ชื่อ "เรื่องเล่าของอาม่า" เป็นเรื่องเล่าขานก่อนที่คนในตระกูลเจียรวนนท์จะก่อร่างสร้างตัวที่เมืองสยาม รวมทั้งเบื้องหลังความสำเร็จของคนในตระกูล ก่อนจะแตกเหล่าแตกกอออกไปทำธุรกิจด้านต่าง ๆ ที่ล้วนแล้วแต่ "สำคัญ" ในปัจจุบัน

"อาม่า" ที่อ้างถึงมีชื่อไทยว่า "คุณแม่เจียร เจียรวนนท์"หรือที่หมู่ญาติคนใกล้ชิดเรียกติดปากว่า "โซ้ยซิ้ม" มีอายุยืนยาวถึง 107 ปี ก่อนจะเสียชีวิตไปไม่กี่เดือนมานี้



คุณแม่เจียร เป็นภรรยาของ "เจี่ย เซี่ยวฮุย" น้องชาย 1 ใน 5 พี่น้องตระกูลเจี่ย (เจียรวนนท์) และหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเจียไต๋และเครือเจริญโภคภัณฑ์ "อาม่า" จึงถือเป็นหนึ่งในบรรพชนรุ่นบุกเบิก และวางรากฐานของตระกูลเจียรวนนท์

"เชิดชัย เจียรวนนท์" บอกเล่าถึงอาม่าว่า "ท่านเป็นกำพร้าตั้งแต่เล็ก เป็นคนไม่ค่อยบ่นอะไร ชอบทำอะไรด้วยตัวเอง พอได้เห็นความสำเร็จของลูก ๆ หลาน ๆ ก็ปลื้มใจ"

ขณะที่ "ทัศนีย์ พุ่งกุมาร" ลูกสาวของอาม่าเล่าว่า "ตอนนั้นที่อยู่ช่วยกันในเจียไต๋ส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัวด้วยกันกลางคืนก็มาช่วยกันใส่ซองเมล็ดพันธุ์ผัก เด็ก ๆ นั่งรวมกลุ่มกัน ผู้ใหญ่ก็รวมกลุ่มกันด้วย อาม่าตัดซองเมล็ดพันธุ์ผัก อาม่ากิมกี่ คุณแม่ธนินท์ อาอี๊น้องสาวคุณแม่ธนินท์ก็ทำกัน คุณหญิงเอื้อปรานีตอนนั้นก็มาแล้ว มาช่วยกันตักเมล็ดพันธุ์ผักใส่ซองแล้วก็ปิดซอง ผักคะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักกาดขาว กะหล่ำปลี เฮฮาสนุกสนานกันมาก ทำงานเสร็จ 4-5 ทุ่มก็ต้มข้าวมากินกัน บางคืนทำกันเป็นหมื่น ๆ ซองก็มี ช่วงไหนขายดีทำไม่ทัน ตื่นเช้าขึ้นมากินข้าวเสร็จแล้วก็ต้องรีบทำต่อตั้งแต่เช้าจนค่ำ กว่าจะได้เงินยากมาก ๆ..."

หนังสือบอกเล่าถึงอาม่าว่า แม้ไม่ได้มีบทบาทในเรื่องธุรกิจเป็นหลัก แต่คอยหนุนหลังดูแลครอบครัวอยู่ตลอด เพื่อให้ผู้นำครอบครัวทุ่มเทให้กับการสร้างฐานะอย่างเต็มที่เพื่อให้มั่นคง ยิ่งขึ้น อาม่าคอยให้ความมั่นใจว่ามีอาหารการกินครบถ้วนบริบูรณ์ ไม่ขาดตกบกพร่อง สมาชิกในครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุขทั่วถึงกัน การครองเรือนในครอบครัวใหญ่ที่อยู่ด้วยกันหลายครอบครัวอย่างอยู่เย็นเป็นสุข อาจไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกครอบครัวมีบางเฉพาะครอบครัวเท่านั้นที่ สามารถผ่านมาถึงเส้นชัยนี้ได้สำหรับ "โซ้ยซิ้ม" หรืออาม่า เคล็ดลับของการครองเรือนที่ว่านี้คือ เรื่องน้ำจิตน้ำใจที่กว้างขวางอันเป็นปกติวิสัยของอาม่านั่นเอง

ใน หนังสือนอกจากจะให้ภาพเรื่องราวของอาม่าตั้งแต่บ้านเกิดที่ซัวเถาอพยพตาม สามี"เจี่ย เซี่ยวฮุย" มาอยู่เมืองไทยย่านถนนทรงวาด กระทั่งมีลูกมีหลานเติบโตแยกย้ายโดยมีอาม่าเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำและ ตำนานแห่งความสำเร็จของตระกูลแล้วสิ่งที่ได้เห็นอีกภาพก็คือวิถีชีวิตที่ เป็นแบบอย่างของคนรุ่นบุกเบิกที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสมาชิกตระกูล เจียรวนนท์

เรื่องเล่าของอาม่า ตำนานที่มา...ตระกูล เจียรวนนท์


บางส่วนบางตอนในหนังสือเล่าถึงกิจการแรกเริ่มร้านเจียไต้(ปัจจุบันคือเจียไต๋) จึงของสองพี่น้องตระกูลเจี่ย (เจี่ย เอ็กซอ และเจี่ย เซี่ยวฮุย) ที่ตั้งขึ้นในปี 2464 เริ่มจากห้องแถวเรือนไม้สองชั้นบนถนนทรงสวัสดิ์ ย่านทรงวาด เป็นที่ขอเช่าจากวัดเกาะหรือวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร ซึ่งใช้เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและเปิดเป็นร้านค้าขายเมล็ดพันธุ์ผัก จึงนับเป็นรายแรก ๆ ที่บุกเบิกการค้าเมล็ดพันธุ์ผักของเมืองไทย

เมื่อกิจการเข้าที่เข้าทางมากขึ้น เจี่ย เซี่ยวฮุย เดินทางกลับไปรับภรรยา (อาม่า) จากเมืองจีนมาอยู่ด้วยกัน ขณะนั้นเป็นสมัยรัชกาลที่ 6 ในหมู่คนจีนย่านสำเพ็ง เยาวราช เวลานั้นมีค่านิยมใช้ชีวิตเรียบง่าย ไม่หรูหราฟุ่มเฟือย ไม่ว่าชายหรือหญิงนิยมใส่เสื้อผ้าแบบจีน เสื้อกุยเฮงผ้าป่าน กางเกงแพรปังลิ้น การสื่อสารก็ใช้แต่ภาษาจีน

เยาวราชนับเป็นแหล่งค้าขายที่คึกคักของกรุงเทพฯ สองฟากถนนเรียงรายไปด้วยร้านขายสินค้านานาชนิด โดยมากเป็นร้านของชำ ถัดเข้ามาตามตรอกซอยจึงเป็นร้านขายอาหาร ขณะที่สำเพ็งเป็นย่านเก่าแก่ที่สุด เป็นเมืองหลวงชุมชนชาวจีนเมื่อแรกโยกย้ายมาในสยาม จึงเป็นแหล่งเลียนแบบถนนพาณิชย์ในซัวเถา ส่วนถนนทรงวาดจะเป็นแหล่งค้าส่งเสียเป็นส่วนใหญ่

คนจีนแต้จิ๋วนั้น ได้ชื่อว่ามีความอุตสาหะที่จะทำธุรกิจด้วยทุนรอนแม้เล็กน้อยที่สุด ดังนั้นกลุ่มคนจีนในย่านนี้จึงมีทุนจำกัด แต่รู้หลักค้าขายอย่างเฉลียวฉลาด และรู้จักเก็บออมเงินทุน

ในยุคแรกเจียไต้มีสมาชิกอาศัยอยู่ด้วยกัน 2 ครอบครัว คือ ครอบครัวเจี่ย เอ็กซอ และเซี่ยวฮุย ลูกจ้างมีเพียงไม่กี่คน ส่วนใหญ่เป็นญาติ ๆ มาช่วยกันทำ ตกกลางคืนเสร็จงานก็กางเตียงนอน

เจี่ย เอ็กซอ ผู้พี่ต้องขึ้นล่องไปติดต่อซื้อหาเมล็ดพันธุ์จากเมืองจีน และหาลู่ทางเปิดตลาดใหม่ ๆ ในต่างประเทศ ดังนั้นจึงใช้ชีวิตในเมืองจีนเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเซี่ยวฮุย คนน้องควบคุมดูแลงานขายหน้าร้าน หาช่องทางค้าขายและขยายกิจการในเมืองไทย รวมทั้งเป็นหลักในการดูแลสมาชิกของสองครอบครัว และบริหารคนงานในร้านทั้งหมด

อาม่าได้ช่วยดูแลครอบครัว รับภาระหุงหาอาหารเลี้ยงดูกินอยู่แบบกงสี กับข้าวที่เป็นอาหารประจำโต๊ะแทบจะขาดไม่ได้เลยสักมื้อก็คือผัดผัก ไม่ว่าผักกวางตุ้ง คะน้า ผักกาดขาว โดยเฉพาะผักกาดขาวและคะน้า ซึ่งเป็นผักที่สร้างชื่อให้กับเจียไต้ กิจการของเจียไต้จึงก้าวหน้าไปได้ดี ครอบครัวก็ขยายเป็นครอบครัวใหญ่ขึ้น จึงมาขอเช่าตึกแถวที่อยู่ฝั่งตรงข้ามเพิ่มขึ้นอีก 2 ห้อง และภายหลังต่อมาได้เช่าเพิ่มอีก 1 ห้อง รวมเป็น 3 ห้องติดกัน ซึ่งก็คืออาคารพาณิชย์ 3 ชั้น 3 คูหา ใช้เป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัท เจียไต๋ จำกัด มาจนถึงปัจจุบัน

ความเป็นอยู่ของครอบครัวในตอนนั้น ทุกคนต้องช่วยกันทำงาน เด็ก ๆ ลูกหลานในบ้านตอนเช้าพากันเดินไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนเผยอิง เมื่อกลับจากโรงเรียน ทำการบ้านเสร็จทุก ๆ วันราว 1 ทุ่ม หลังกินข้าวเย็นแล้วลูกจ้างจะเก็บโต๊ะอาหารพิงฝาไว้แล้วปูเสื่อตรงกลาง ช่วงเวลานี้สมาชิกทั้งหมดจะมาพร้อมหน้ากันนั่งล้อมเป็นวงใหญ่ ลงมือช่วยกันบรรจุเมล็ดพันธุ์ลงซองอย่างขะมักเขม้น

การจ่ายค่าแรงในการบรรจุซองเมล็ดพันธุ์ คนตัดกระดาษซองได้ 1 บาทต่อ 1,000 ซอง คนบรรจุเมล็ดพันธุ์ลงซองได้ 2.50 บาทต่อ 1,000 ซอง อาม่าทำหน้าที่ตัดเป็นหลักเพราะตัดเร็วและเรียบร้อยสวยงาม บางคราวรีบเร่งก็ต้องทำกันเป็นหมื่น ๆ ซอง ส่วนใหญ่แต่ละคืนที่นั่งทำกันมักจะได้คืนละ 8 บาท เป็นรายได้ดีทีเดียว เพราะในยุคนั้นก๋วยเตี๋ยวขายกันชามละ 50 สตางค์ ปลาทูเข่งละ 25 สตางค์ และข้าราชการส่วนใหญ่ยังรับเงินไม่ถึง 1,000 บาทต่อเดือน นับเป็นกงสีใหญ่ที่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบทีเดียว

ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ผักของเจียไต้เมื่อเริ่มแรกใช้เครื่องหมายการค้า"ตราเรือบิน"ภายหลังเปลี่ยนมาใช้ "ตราเครื่องบิน" โดยเจี่ย เซี่ยวฮุย บอกกับลูกหลานว่า เครื่องบินเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าล้ำยุคที่สุดในช่วงเวลานั้น บ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์และสินค้าของเจียไต๋มีคุณภาพและทันสมัย

มีเรื่อง เล่าในหมู่ญาติใกล้ชิดว่า ความสามารถที่โดดเด่นของครอบครัวตระกูลเจี่ยในการคัดสรรและเพาะพันธุ์เมล็ด พืชนั้นมาจากฝ่ายย่าทวดในตระกูลหรือเหล่าม่าเพราะมีใจรักในการเพาะปลูกชอบ ปลูกต้นไม้ ดอกไม้ ไม่ว่าจะปลูกอะไรก็งอกงาม ผลิดอกออกผลอย่างดี ซึ่งพืชพันธุ์ที่เหล่าม่าชอบปลูกมากที่สุดคือ "เก๊กฮวย" ไม้ดอกพื้นบ้านทั่วไปในเมืองจีนนั่นเอง นิสัยนี้ได้ตกทอดมาสู่รุ่นลูกหลานด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเจี่ย เอ็กซอ บรรพบุรุษต้นตระกูลเจียรวนนท์ ที่ได้รับพรสวรรค์นี้มา ค้นพบวิธีปลูกเก๊กฮวยให้ออกดอกนอกฤดูได้สำเร็จ

เรื่องเล่าของอาม่า ตำนานที่มา...ตระกูล เจียรวนนท์


เหล่าม่าเป็นคนโอบอ้อมอารี และขึ้นชื่อในเรื่องใจบุญสุนทาน ด้วยอุปนิสัยใจคอเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เช่นนี้เหล่าม่าจึงเป็นที่รักใคร่ของคนทั้งหมู่บ้าน อาม่าเคยอยู่ด้วยกันกับเหล่าม่าที่เมืองจีนมาก่อน จึงได้ซึมซับรับเอาคุณงามความดีหลายต่อหลายอย่างของเหล่าม่าไว้ แล้วถ่ายทอดมาสู่คนรุ่นหลัง

"อาม่า" จึงเป็นสตรีเบื้องหลังความสำเร็จคนหนึ่งของตระกูลเจียรวนนท์ เพราะจนปัจจุบันใครจะเชื่อว่า "ห้างเจียไต้จึง" ที่ขายเพียงเมล็ดพันธุ์ผัก ได้พัฒนาและกลายมาเป็น "บริษัทเจียไต๋"และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ทั้งผลิตและจำหน่ายสินค้า ซึ่งมีเครือข่ายสาขากระจายอยู่และรู้จักกันไปทั่วโลก

เรื่องเล่าของอาม่า ตำนานที่มา...ตระกูล เจียรวนนท์

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์