สิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับพิธีแต่งงานที่จะขาด ไม่ได้เลย ก็คือ เรื่องอาหารที่นำมาเลี้ยงต้อนรับแขกที่มาร่วมแสดงความยินดีกับความรักของเรา สำหรับพิธีแต่งงานของคนไทย อาหารมงคลที่ใช้มักแตกต่างไปตามแต่ละชาติแต่ละภาษา ที่เห็นได้ชัดก็คงเป็นธรรมเนียมของไทยกับจีน ซึ่งสืบทอดกันมาช้านานตั้งแต่บรรพบุรุษ และผสมผสานจนกลายเป็นสิ่งที่ถือปฏิบัติกันไปแล้วสำหรับปัจจุบัน
อาหารมงคลของไทย
คุณผู้อ่านที่เคยอยู่ใกล้ผู้เฒ่าผู้แก่ก็อาจจะเคยได้ยินคำว่า "กินสี่ถ้วย" คำ นี้มาจากอาหาร 4 ชนิด ที่จะต้องมีในงานมงคลสมรสของคนไทยในสมัยก่อน เพราะสมัยก่อนนั้นการเดินทางยังไม่สะดวกสบายมากนัก พอบ้านไหนจัดงานทีก็ต้องเดินทางกันไป จึงเกิดความเหนื่อยล้า อาหารที่ตระเตรียมไว้ก็ต้องเป็นอาหารที่เรียกพลังงานคืนได้ดี และต้องมีชื่อมงคลอีกด้วย ซึ่งได้แก่...
เม็ดแมงลักน้ำกระทิ ความหมาย ให้คู่แต่งงานมีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง สมบูรณ์พร้อมหน้า และมีครอบครัวที่อบอุ่น
ข้าวเหนียวน้ำกะทิ ความหมาย ให้คู่บ่าวสาวนั้นรักกันแน่นเหนียวเหมือนข้าวเหนียว
ข้าวตอกน้ำกะทิ ความหมาย ให้คู่บ่าวสาวนั้นมีความรักที่เบ่งบานรุ่งเรืองเช่นเดียวกับสีขาวสวยของข้าวตอก
ลอดช่องน้ำกะทิ ความหมาย มีความรักที่ยืนยาว และจะทำการใดก็ขอให้ตลอดปลอดโปร่ง ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่ และมีความหวานชื่นเหมือนน้ำกะทิ
เมื่อเวลาผ่านไปการเลี้ยงขนมแบบนี้ได้ยกเลิกไป และกลายเป็น "งานกินเลี้ยง" แทน และสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ "เตียบอาหาร" ในขบวนขันหมาก ที่จะต้องมีอาหารคาวอย่างน้อย 3 อย่าง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นรายการดังต่อไปนี้...
ห่อหมก ความหมายมาจากคำว่า "เออออห่อหมก" ให้คล้อยตามกันไป จะได้ไม่ต้องมีปัญหาทะเลาะกัน
ขนมจีบ ความหมาย ให้คู่รักมีความหวานชื่นเหมือนตอนจีบกันใหม่ ๆ
ขนมจีนน้ำยา ความ หมาย เพื่อเป็นการครองรักที่ยืนนานดั่งเส้นขนมจีน นอกจากนี้ ยังต้องมีเครื่องเคียงขนมจีนอย่างถั่วงอกด้วย เพราะว่าถั่วงอกมีความหมายขึ้นชื่อว่าความเจริญงอกงาม