ซาแมนธา ไวเบิร์ต นักศึกษาปริญญาเอกด้านกีฏวิทยาของมหาวิทยาลัย ไซมอน เฟรเซอร์ แห่งแคนาดา รายงานเอาไว้ในวารสารวิชาการ เจอร์นัล ฟรอนเทียร์ส อิน ซูโลจี เมื่อเร็วๆ นี้ว่า แมงมุมตัวผู้ที่เคลื่อนเข้าหาแมงมุมตัวเมียเพื่อผสมพันธุ์ มีลักษณะการเคลื่อนไหวพิเศษ เพื่อเตือนตัวเมียให้รู้ว่ามันเป็นแมงมุมเช่นเดียวกัน ไม่ใช่เหยื่อที่หลงเข้ามาติดกับดักใยแมงมุมที่กางดักไว้ ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของมันเอง
ไวเบิร์ต สังเกตพบลักษณะการเคลื่อนไหวดังกล่าวจากการสังเกตพฤติกรรมของแมงมุม 2 ชนิดคือ แมงมุมแม่หม้ายดำตะวันตก (ชื่อวิทยาศาสตร์ Latrodectus Hesperus) และ แมงมุมโฮโบ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Tegenaria agrestisi) ซึ่งชักใยแตกต่างกัน แมงมุมโฮโบชักใยเป็นระเบียบแบบเดียวกับที่เราเห็นกับใยแมงมุมทั่วๆ ไป ในขณะที่ใยของแมงมุมแม่หม้ายดำยุ่งเหยิงและเป็นกลุ่มก้อนมากกว่า
เมื่อตัวผู้ต้องการเข้าหาตัวเมียที่ใจกลางใย ไวเบิร์ต พบว่า มันจะเข้าไปหาอย่างเงียบที่สุด และสร้างการสั่นกระเพื่อมของใยเป็นจังหวะจะโคน กล่าวคือ เคลื่อนไปข้างหน้าสองสามก้าว แล้วหยุด สั่นหน้าท้องให้กระทบกับใย จากนั้นก็เดินต่อไปอีกสองสามก้าว แล้วก็สั่นหน้าท้องโดยเร็วอีกครั้ง โดยเฉพาะแมงมุมแม่หม้ายดำจะสั่นหน้าท้องเร็วมาก ความเงียบและจังหวะการสั่นดังกล่าวมีขึ้นเพื่อสร้างความแตกต่างกับการดิ้นรนของเหยื่อที่เข้ามาติดใยแล้วดิ้นตลอดเวลา ซึ่งจะบอกกับตัวเมียเจ้าของใยในทันทีว่า มันคือเหยื่อแสนอร่อยนั่นเอง
ไวเบิร์ตพบว่า แมงมุมตัวเมียมีปฏิกิริยาต่อการสั่นสะเทือนของใยทั้งสองแบบแตกต่างกัน ปฏิกิริยาต่อการสั่นสะเทือนต่อเนื่องไม่มีจังหวะจะก้าวร้าวกว่าอย่างเห็นได้ชัด
ดังนั้น แมงมุมตัวผู้หากไม่ต้องการตกเป็นเหยื่อถูกกินเสียก่อนก็ต้องเงียบและสั่นหน้าท้องให้ถูกจังหวะด้วยนั่นเอง