เตรียมพร้อมการเปลี่ยนผ่านสู่ โทรทัศน์ระบบดิจิตอล (Digital TV)
โทรทัศน์ระบบดิจิตอล (Digital TV) คืออะไร
ปัจจุบันการรับชมโทรทัศน์ตามบ้านในประเทศไทย ประชาชนสามารถเลือกรับชมได้จาก 3 ระบบ ดังนี้
1. ระบบภาคพื้นดิน (Terrestrial) ซึ่งเป็นการรับส่งสัญญาณในระบบอนาล็อก (Analog) โดยใช้สายสายอากาศแบบก้างปลาหรือหนวดกุ้งที่ชาวบ้านเรียกกัน รับสัญญาณจากเสาส่งสัญญาณภาคพื้นดินของแต่ละสถานี ซึ่งในบางพื้นที่อาจจะมีปัญหาในการรับสัญญาณได้ไม่ชัดเจน เนื่องจากโดนบดบังสัญญาณจากสิ่งปลูกสร้างต่างๆ
2. ระบบดาวเทียม (Satellite TV) โดยใช้จานรับดาวเทียมรับสัญญาณจากดาวเทียมโดยตรง ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการบดบังสัญญาณจากสิ่งปลูกสร้างต่างๆ และ สัญญาณดาวเทียมครอบคลุมทุกพื้นของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลที่สัญญาณภาคพื้นดินไม่ครอบคลุมถึง จึงค่อนข้างได้รับความนิยมมากกว่าระบบอื่น
3. ระบบเคเบิ้ลทีวี (Cable TV) รับชมผ่านโครงข่ายสายเคเบิ้ลของผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวี โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุด คอนโดมิเนียม โรงแรม และ บ้านพักอาศัยในเขตเมือง ซึ่งมีพื้นที่จำกัดในการติดตั้งสายอากาศหรือจานรับดาวเทียม
โทรทัศน์ระบบดิจิตอล (Digital TV) จะเป็นการปรับเปลี่ยนเทคนิคการรับส่งสัญญาณระบบภาคพื้นดิน (Terrestrial) จาก ระบบอนาล็อก ไปเป็น ระบบดิจิตอล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรับส่งสัญญาณให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นและทำให้สามารถเพิ่มช่องรายการโทรทัศน์ในการส่งได้มากยิ่งขึ้นด้วย โดยเฉพาะการส่งสัญญาณแบบความคมชัดสูง (High-Definition) หรือ HDTV จำเป็นจะต้องใช้ขนาดความกว้างความถี่ (Bandwidth) ในการส่งสัญญาณมากกว่าแบบความคมชัดมาตรฐานปกติ (Standard Definition) หรือ SDTV ประมาณ 3-4 เท่า
แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
กสทช. มุ่งให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ไปสู่ระบบดิจิตอล เพื่อให้การใช้คลื่นความถี่มีประสิทธิภาพ สามารถจัดให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการโทรทัศน์ ตามเจตนารมณ์กฎหมาย การส่งเสริมการใช้โครงข่ายร่วมกัน และ การส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนสามารถรับสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ระบบดิจิตอลได้อย่างทั่วถึง โดยเริ่มรับส่งสัญญาณระบบดิจิตอลได้ภายใน 4 ปี และ มีจำนวนครัวเรือนที่สามารถรับสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ภายใน 5 ปี
ช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิตอล
คณะกรรมการ กสทช. ได้กำหนดจำนวนช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลไว้ทั้งหมด 48 ช่อง ประกอบด้วยช่องรายการประเภทต่างๆ ดังนี้
1. บริการสาธารณะ จำนวน 12 ช่อง
2. บริการทางธุรกิจ จำนวน 24 ช่อง
2.1 รายการเด็ก เยาวชน และครอบครัว (SDTV) จำนวน 3 ช่อง
2.2 รายการข่าวสารหรือสาระ (SDTV) จำนวน 7 ช่อง
2.3 รายการทั่วไป แบบความคมชัดมาตรฐานปกติ (SDTV) จำนวน 7 ช่อง
2.4 รายการทั่วไป แบบความคมชัดสูง (HDTV) จำนวน 7 ช่อง
3.บริการชุมชน (SDTV) จำนวน 12 ช่อง
การรับชมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล
กสทช. ได้กำหนดมาตรฐานการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลด้วย ระบบ DVB-T2 (Digital Video Broadcasting – Terrestrial 2nd generation) มาตรฐานความคมชัดแบบ SDTV และ HDTV โดยใช้ความถี่ย่าน UHF ในการออกอากาศ
ซึ่งประชาชนจะสามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิตอลได้ดังนี้
1. เครื่องรับโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ซึ่งจะมีจูนเนอร์ (Tuner) รับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิตอล DVB-T2 อยู่ภายในเครื่องรับเรียบร้อยแล้ว
2. กล่องรับสัญญาณ (Set Top Box) แบบ DVB-T2 โดยนำสัญญาณ AV หรือ HDMI จาก กล่อง DVB-T2 ต่อเข้ากับเครื่องรับโทรทัศน์ระบบอนาล็อกที่มีอยู่เดิม
การรับชมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล
โดยในช่วงระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านไปสู่โทรทัศน์ระบบดิจิตอลนี้ กสทช. ได้กำหนดให้มีการส่งสัญญาณ ระบบอนาล็อก ควบคู่กับ ระบบดิจิตอล ซึ่งทำให้ประชาชนที่มีเครื่องรับโทรทัศน์ระบบอนาล็อกเดิม ยังสามารถรับชมช่องรายการระบบอนาล็อกได้ไปอีกระยะหนึ่ง นอกจากนั้น การส่งสัญญาณในระบบดาวเทียม กสทช. ยังได้มีประกาศ กฎ Must Carry ให้ประชาชนสามารถรับชมช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลผ่านทางจานดาวเทียมได้ด้วย
โดย กสทช. จะเริ่มทำแผนยุติการส่งสัญญาณโทรทัศน์ระบบอนาล็อกในปี 2558
ขอบคุณข้อมูลจาก :: catdatacom.com
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!