นักวิทย์เมืองผู้ดีตัดต่อพันธุกรรมทำ "มะเขือเทศเบอร์รี" เปลี่ยนสีจากแดงเป็นม่วงสำเร็จ เตรียมทดสอบโภชนาการ เชื่อมีคุณค่าต้านอนุมูลอิสระได้เทียบชั้นบลูเบอร์รี คาดอีก 2 ปี พร้อมผลิตเป็นน้ำมะเขือเทศม่วงขายตลาดอเมริกา หวังเปลี่ยนมุมมองพืชจีเอ็มให้ดีขึ้นในสายตาคนทั่วโลก
เป็นที่ทราบกันดีว่าผลไม้ในตระกูลเบอร์รีทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นบลูเบอร์รีหรือแครนเบอร์รี ล้วนมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพราะอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระตัวที่เรียกว่า "แอนโธไซยานิน" (anthocyanin) ซึ่งเป็นเม็ดสีที่ทำให้เกิดสีม่วงในผักผลไม้ และได้ผ่านการพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์แล้วว่ามีฤทธิ์ช่วยต้านมะเร็งได้ จึงจุดประกายให้ ศาสตราจารย์แคธี มาร์ติน (Prof Cathie Martin) นักวิจัยจากจอห์น อินเนส เซ็นเตอร์ (John Innes Centre) เมืองนอร์วิช สหราชอาณาจักร สร้างมะเขือเทศจีเอ็ม (Genetically modified tomato) ที่มีสีม่วง มีสารแอนโธไซยานินและดีต่อสุขภาพราวกับบริโภคผลเบอร์รีต่างๆ
"ในมะเขือเทศสีม่วง เราจะได้รับสารอาหารชนิดเดียวกันกับที่มีอยู่ในผลบลูเบอร์รีและแครนเบอร์รี ซึ่งดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค แต่คุณจะสามารถนำมาเป็นอาหารอย่างที่คนทั่วไปบริโภคกันจริงๆ ได้ในปริมาณเท่าที่จำเป็นและทำได้อย่างสมเหตุสมผล" ศ.มาร์ติน เผยแก่บีบีซีนิวส์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็ได้ระบุว่ามะเขือเทศพันธุ์ใหม่นี้สามารถเพิ่มคุณค่าทาง อาหารให้แก่ซอสมะเขือเทศสำหรับรับประทานกับพิซซ่าได้
ทั้งนี้ ศ.มาร์ติน และคณะวิจัยได้ใช้เทคโนโลยีการดัดแปรพันธุกรรมหรือจีเอ็ม (GM) ในการพัฒนามะเขือเทศสายพันธุ์สีม่วงขึ้นในอังกฤษ โดยนำยีนที่สร้างรงควัตถุหรือเม็ดสีสีม่วงจากต้นลิ้นมังกร (snapdragon) มาตัดต่อใส่เข้าไปในยีนของมะเขือเทศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างรงควัตถุสีม่วง หรือแอนโธไซยานินในผลมะเขือเทศ
ต่อจากนั้นได้นำพันธุ์มะเขือเทศจีเอ็มไปปลูกในแคนาดา เพื่อผลิตเป็นน้ำมะเขือเทศสีม่วง และส่งกลับมาให้ทีมนักวิจัยทำการศึกษาคุณค่าทางด้านโภชนาการในลำดับต่อไป โดยน้ำมะเขือเทศสีม่วงชุดแรกที่ผลิตได้จำนวน 1,200 ลิตร พร้อมขนส่งทางเรือสู่อังกฤษในอีกไม่ช้า และสำหรับเมล็ดของมะเขือเทศสีม่วงจะถูกทำลายทิ้งทั้งหมด เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงเกิดการปนเปื้อนของชิ้นส่วนทางพันธุกรรมของมะเขือ เทศจีเอ็มในทุกๆกรณี
ในการทดสอบน้ำมะเขือเทศม่วง ทีมวิจัยจะทำการศึกษาในครอบคลุมทั้งหมด รวมถึงการทดสอบด้วยว่าสารแอนโธไซยานินในมะเขือเทศสีม่วงให้ผลในด้านบวกต่อ มนุษย์หรือไม่ อย่างไร ซึ่งการศึกษาในเบื้องต้นชี้ว่าสารแอนโธไซยานินดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และยับยั้งการเกิดมะเร็งในหนูทดลอง
แม้ว่าการพัฒนาพันธุ์มะเขือเทศสีม่วงจะเกิดขึ้นในอังกฤษ ทว่าด้วยข้อจำกัดของสหภาพยุโรปในเรื่องของอาหารดัดแปรพันธุกรรม ทำให้ ศ.มาร์ติน ต้องมองหาความร่วมมือในต่างแดนเพื่อผลักดันงานวิจัยและเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งก็ได้แคนาดาเป็นพันธมิตร เนื่องด้วยกฎระเบียบของแคนาดาที่มีต่อเรื่องนี้นั้น เป็นไปในทางให้การสนับสนุนในเทคโนโลยีนี้มากกว่า ดังเห็นได้จากการที่มีข้อตกลงร่วมกับ นิว เอ็นเนอร์ยี ฟาร์มส (New Energy Farms) เอกชนรายหนึ่งในรัฐออนทาริโอ ที่ทำการผลิตมะเขือเทศสีม่วงในเรือนกระจกขนาด 465 ตารางกิโลเมตร สำหรับผลิตเป็นน้ำมะเขือเทศสีม่วงจำนวน 2,000 ลิตร
"เขาพิจารณาที่คุณสมบัติ ไม่ใช่ตัวเทคโนโลยี และนั่นก็เป็นสิ่งที่พวกเราควรเริ่มปรับเปลี่ยนความคิดและคำถามของพวกเรา หากสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่นั้นมันมีความปลอดภัยและเกิดประโยชน์ ไม่ใช่ตั้งคำถามว่า 'มันคือจีเอ็มหรือเปล่า' และถ้าใช่ พวกเราขอปฏิเสธโดยสิ้นเชิง" ศ.มาร์ติน กล่าว ซึ่งเธอมองว่าระบบระเบียบในแคนาดานั้นทำให้งานวิจัยของเธอลุล่วงไปได้มาก โดยเธอหวังว่างานวิจัยนี้จะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ระดับแถวหน้าที่จะทำให้ผู้คน สามารถเข้าถึงสิ่งที่มาจากการดัดแปรพันธุกรรมแต่มีประโยชน์ต่อพวกเขา
ทั้งนี้ ทีมวิจัยมีความหวังว่าน้ำมะเขือเทศม่วงมีโอกาสสดใสที่จะได้รับอนุญาตให้วาง จำหน่ายแก่ผู้บริโภคในอเมริกาเหนือได้ อย่างน้อยก็ในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่ง ศ.มาร์ติน และนักวิจัยด้านพืชคนอื่นๆ ในสหราชอาณาจักรหวังว่าการดัดแปรพันธุกรรมจะปรากฏในแสงสว่างด้านบวกมากยิ่ง ขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่นานมีทีมนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยร็อทแธมสเตด (Rothamsted Research) มณฑลฮาร์ทฟอร์ดเชอร์ ในสหราชอาณาจักร ได้ประกาศมองหาพันธมิตรที่จะอนุญาตให้พวกเขาทำการทดสอบภาคสนามในการผลิตพืช จีเอ็มที่สามารถสร้างน้ำมันปลาได้ ในขณะเดียวกันทีมวิจัยนี้ก็กำลังอยู่ระหว่างทดลองผลิตข้าวสาลีจีเอ็มที่ผลิต สารป้องกันแมลงได้
ทางด้านศาสตราจารย์นิค พิดเจียน (Prof Nick Pidgeon) นักจิตวิทยาสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ (Cardiff University) ในอังกฤษ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อเรื่องจีเอ็มและเทคโนโลยีอื่นๆ ซึ่งเขากล่าวว่ามันเป็น "มรดกที่ไม่น่าไว้ใจ" (legacy of distrust) เช่นเดียวกับโรควัวบ้า ที่เป็นปัญหามายาวนาน
"ประโยชน์ที่สำคัญจะช่วยสร้างความแตกต่าง แต่มันก็เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของเรื่องราวทั้งหมดที่ซับซ้อน ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงห่วงกังวลว่าเทคโนโลยีนี้เป็นการรบกวนระบบธรรมชาติ พวกเขายังกังวลด้วยว่าเทคโนโลยีนี้จะอยู่ในครอบครองของบรรษัทใหญ่เท่านั้น และท้ายที่สุด เมื่อคุณรับประทานมันเข้าไป และให้ลูกๆของคุณรับประทานด้วย อาจจะกลายเป็นความห่วงกังวลฉพาะของแต่ละครอบครัวทั่วสหราชอาณาจักร" ศ.พิดเจียน เผย
ทั้งนี้ นักจิตวิทยาสิ่งแวดล้อมระบุว่า ในการที่จะเปลี่ยนแปลงมุมมองด้านลบของผู้คนในสังคมที่มีมายาวนาน 10-15 ปีนั้น คงต้องใช้เวลาเป็นอย่างมาก จะต้องมีการพิสูจน์ในเรื่องความปลอดภัย มีกฎหมายข้อบังคับที่ดี และมีความสามารถในการจัดการเทคโนโลยีไปในทางที่ปลอดภัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้ในชั่วข้ามคืน
ข้อมูลจาก เมเนเจอร์