นอกจากจะมีปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้าแล้ว 5 ประเทศตลาดเกิดใหม่ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้เปราะบางทั้ง 5 (Fragile Five) ได้แก่ บราซิล อินเดีย อินโดนีเซีย ตุรกี และแอฟริกาใต้ ก็ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยในปีนี้จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในทั้ง 5 ประเทศ ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
มาดูสถานการณ์ในทั้ง 5 ประเทศกัน
บราซิล
ค่าเงินรีล ของบราซิล ร่วง 15% ในปีที่แล้วเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 3.59% ของจีดีพี นอกจากนี้ในปี 2556 ธนาคารกลางบราซิลยังต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 7 ครั้งติดต่อกัน ซึ่งรวมกันทั้งหมดเป็นปรับขึ้นถึง 10.5% เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อแดนแซมบ้าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีตลอดจนการ เลือกตั้งท้องถิ่นในวันที่ 5 ตุลาคมนี้
อินเดีย
ปีที่แล้วขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 4.37% ของจีดีพี ส่วนเงินรูปีรูดลง 14% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ อัตราเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอตัวลงบ้างได้เปิดพื้นที่ให้ธนาคารกลางอินเดียคง อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ระยะหนึ่ง ขณะที่รัฐบาลพยายามควบคุมรายจ่ายภาครัฐ เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคม
มีความกังวลว่า ไม่ว่าพรรคใดจะชนะการเลือกตั้ง ก็คงไม่แคล้วต้องจับมือกับพรรคเล็กตั้งรัฐบาลผสม ส่วนรัฐสำคัญๆ ของอินเดียจะยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคตรงข้ามกับรัฐบาลชุดใหม่ ทำให้การปฏิรูปโครงสร้างเป็นไปอย่างยากลำบาก
อินโดนีเซีย
เงินรูเปียห์ ของอินโดนีเซียเป็นสกุลเงินที่เคลื่อนไหวผันผวนที่สุดในบรรดาค่าเงินของประเทศตลาด เกิดใหม่ในปี 2556 โดยอ่อนลง 21% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศดังกล่าวติดลบ 3.71% ของจีดีพี
ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าค่าเงินรูเปียห์จะเริ่มฟื้นช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หลังมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีวันที่ 9 กรกฎาคม แต่ระหว่างนั้นอาจมีการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ถ้าราคาเชื้อเพลิงพุ่งขึ้น
ตุรกี
ในปี 2556 ตุรกีขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 7.22% ของจีดีพี ส่วนค่าเงินลีราดิ่งลึก 24% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ เหตุที่ค่าเงินของตุรกีอ่อนค่ามากขนาดนี้มาจากข่าวฉาวเรื่องการคอร์รัปชั่น ของบรรดาเครือญาติคณะรัฐมนตรี ประกอบกับดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ และภาคการก่อสร้างซึ่งเป็นตัวจักรขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศเริ่มมีปัญหา
แม้ ธนาคารกลางจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินทุนไหลออกซึ่งฉุดค่าเงินลี รา แต่นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าเป็นเพียงยาบรรเทาปวดชั่วคราวเท่านั้น
การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นจะมีขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ ตามมาด้วยการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนสิงหาคม
แอฟริกาใต้
ค่าเงินเรนด์ของประเทศอ่อนลง 19% ช่วงปีกลายเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของแอฟริกาใต้ขาดดุล 6.8% ของจีดีพี
นอก จาก ปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดแล้ว ปัจจัยที่กระทบต่อค่าเงินเรนด์ ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ของแอฟริกา ใต้ ธนาคารกลางของประเทศจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมตั้งแต่กรกฎาคม 2555 ก่อนปรับขึ้นชนิดสายฟ้าแลบเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ส่วนการเลือกตั้งทั่วไปคาดว่ามีจะขึ้นช่วงเมษายน-กรกฎาคมนี้
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์