สำหรับเทคนิคการเลิกดื่มกาแฟ โดยเฉพาะในคนที่มีอาการติดคาเฟอีน หมอขอแนะนำวิธีการเบื้องต้นดังต่อไปนี้
1. ให้ลดปริมาณการดื่มกาแฟในแต่ละวันลง เช่น จากที่เคยดื่มวันละ 4 แก้วให้ลดลงเหลือ 3 แก้ว แต่หากจำเป็นต้องดื่มแก้วที่ 4 ให้ชงด้วยกาแฟสกัดคาเฟอีน(Decaffeinated) จนกระทั่งร่างกายเริ่มชินก็ให้ลดปริมาณลงอีก
2. สำรวจว่า นอกจากกาแฟแล้ว ท่านยังได้รับคาเฟอีนจากอาหารชนิดใดอีกบ้าง เช่น ชา โกโก้ ช็อคโกแลต ซีเรียลรสโกโก้ เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น จากนั้นให้ลดการบริโภคทุกอย่างร่วมกับการลดปริมาณกาแฟที่ดื่มในแต่ละวัน หรือเลิกบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้
3. นอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ ในตอนกลางคืน อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
4. ดื่มน้ำสะอาด วันละประมาณ 1-2 ลิตร และการรับประทานวิตามินบีรวม ซึ่งจะช่วยทุเลาอาการอ่อนเพลีย
5. การออกกำลังกาย จะช่วยให้สมองเพิ่ม ซีโรโตนิน(serotonin) และโดปามีน(dopamine) ได้เช่นเดียวกันกับการได้รับคาเฟอีน
6. งดดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
7. รับประทานอาหารเช้า เพราะระดับน้ำตาลในกระแสเลือดที่เพียงพอจะช่วยให้สมองและร่างกายทำงานได้โดยไม่อ่อนเพลีย
8. หากิจกรรมหรืองานอดิเรกทำ เพื่อหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ และควรหลีกเลี่ยงการไปร้านกาแฟ
9. หากมีอาการปวดศรีษะระหว่างงดกาแฟ สามารถรับประทานยาพาราเซตามอล หรือแอสไพรินได้ ไม่ควรรับประทานยาแก้ปวดไมเกรนซึ่งมีส่วนผสมของคาเฟอีนอยู่
10. หากมีอาการหงุดหงิด ใจสั่น อาจจะใช้วิธีอาบน้ำเย็นช่วย
เทคนิคทั้ง 10 ข้อนี้ ประยุกต์จากความรู้ทางวิชาการและจากประสบการณ์การแนะนำผู้มาตรวจสุขภาพ รวมถึงประสบการณ์ของหมอเองในการลดปริมาณการดื่มกาแฟ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยให้ผู้อ่านลดปริมาณการดื่มกาแฟได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการเลิกดื่มกาแฟก็คือ ความตั้งใจและความมุ่งมั่นของท่านผู้อ่านเอง