พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม


 

          พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม เกียรติภูมิ ๑๐๐ ปี ทีมชาติไทย นับจากวันนี้อีก 7 ปี คณะฟุตบอลสำหรับชาติสยามอันเป็นชื่อแรกเริ่มของทีมชาติไทย เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2458 ก็จะมีอายุครบหนึ่งศตวรรษ ตำนานและเรื่องราวเกียรติภูมินักเลงลูกหนัง ตราพระมหามงกุฎได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักพระราชวัง อนุญาตให้สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย เข้าไปดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยามณ พระตำหนักทับแก้ว พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เพื่อแสดงปฐมบทในประเทศไทย อย่างเป็นทางการบนดินแดนแห่งตำนานฟุตบอลถ้วยทองนักรบ

สำหรับประวัติโดยสังเขป
พระตำหนักทับแก้วเป็นตึกสองชั้นขนาดเล็ก อยู่เชิงสะพานสุนทรถวาย ภายในบริเวณพระราชวังสนามจันทร์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เคยใช้เป็นที่ประทับฤดูหนาว ด้านในอาคารมีเตาผิง รวม 3 ห้อง บนหลังคาพระตำหนักมีปล่องไฟ 2 ปล่อง ตามแบบบ้านของชาวอังกฤษชนบท ห้องโถงกลางชั้นบน มีหินอ่อนสีขาวอยู่บนผนังเหนือเตาผิง เป็นพระรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ลักษณะเป็นภาพเหมือนลายเส้นเขียนด้วยดินสอดำสันนิฐานว่าเป็นภาพฝีพระหัตถ์ของล้นเกล้าฯสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าสิ่งอันล้ำค่าของประเทศไทย


ในระหว่างที่มีการซ้อมรบเสือป่า พระตำหนักทับแก้วจะใช้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการเสือป่ากองเสนาน้อยราบเบารักษาพระองค์ นอกจากการออกว่าราชการ ดังปรากฎจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ความว่า“…วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 133 พ.ศ. 2457 ประทับพระตำหนักทับแก้ว โปรดพระราชทานตราแก่ข้าราชการ มงกุฎสี่ 1 มงกุฎห้า 1 เหรียญรัตนาภรณ์ชั้นที่ 2 ชั้นห้า เหรียญราชรุจิ 7 เหรียญจักรพรรดิ 1 โปรดพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์แก่ข้าราชการ 2…”

โดยเฉพาะพื้นที่สนามหญ้าหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 ในปัจจุบัน คือสนามแข่งขันฟุตบอลรายการถ้วยทองของหลวง หรือ ถ้วยทองนักรบตลอดรัชสมัยพระองค์ดำรงตำแหน่งสภานายกฟุตบอลถ้วยทองหลวง (พ.ศ. 2458 - 2468) อันถือได้ว่าเป็นสนามมาตรฐานเก่าแก่แห่งหนึ่งของวงการลูกหนัง ซึ่งยังคงสภาพสมบูรณ์แบบที่สุดในประเทศไทย สำหรับถัดขึ้นไป จะเป็นสนามฟุตบอลพระราชวังสนามจันทร์ สโมสรนครปฐมใช้เป็นสนามเหย้าเพื่อแข่งขันรายการไทยแลนด์ พรีเมียร์ลีก ในอดีตนั้น สโมสรนครชัยศรี (ก่อนเปลี่ยนจาก มลฑณเป็น จังหวัด”) คือสโมสรที่อยู่นอกพระนคร แต่สามารถเข้ามาชนะเลิศฟุตบอลถ้วยพระราชทานถึงเมืองหลวงเป็นทีมแรกของสยามประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2463 โดยนักฟุตบอลส่วนใหญ่เป็นสมาชิกเสือป่า หรืออาจเรียกได้ว่าทีมเสือป่าจากสนามจันทร์

ในส่วนพันธกิจสำคัญของพิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยามเพื่อเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ ในพระราชกรณียกิจด้านการสนับสนุนและส่งเสริมกีฬาลูกหนังของชาติ พิพิธภัณฑ์ดังกล่าว จะนำเสนอประวัติศาสตร์วิวัฒนาการกีฬาฟุตบอลประเทศไทย ตั้งแต่การแข่งขันนัดแรก ณ สนามหลวง เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2443 ปลายรัชการที่ 5 จนทำให้ หมากเตะเป็นที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลาย ก่อนรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ ก่อตั้งทีมชาติสยามและ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

ภายหลังสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าทรงเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงโปรดเกล้าฯ รับคณะฟุตบอลแห่งสยามให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2469 เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ดังเห็นได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงให้ความสนพระทัยต่อกิจการกีฬาลูกหนังอย่างมากเพียงใด

สำหรับภาพรวมในพิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยามณ พระตำหนักทับแก้ว (ระยะที่ 1 มกราคม - ธันวาคม 2550) ชั้นบนของพระตำหนัก จะมีสิ่งอันทรงคุณค่ากว่า 200 รายการ จัดแสดงไว้ในตู้ไม้สักโบราณ 10 ตู้ ประกอบด้วยข้อมูล รูปภาพ สิ่งพิมพ์ เอกสาร ชุดแข่งขัน เหรียญรางวัล ฯลฯ แบ่งเป็นหมวดหมู่ รวม 3 ห้อง คือ

ห้องโถงกลาง (ห้องว่าราชการ) จัดแสดงเรื่อง ยุคทองของฟุตบอลเมืองสยาม” (พ.ศ. 2443 - 2475) สำหรับสิ่งสำคัญในส่วนนี้ จะมีภาพวิวัฒนาการกีฬาหมากเตะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5, รัชกาลที่ 6, รัชกาลที่ 7 รวมกว่า 100 รูป, พระรูปรัชกาลที่ 6 ทรงฉายร่วมกับนักฟุตบอลสโมสรกรมม้าหลวง ณ สนามเสือป่าสวนดุสิต (พ.ศ. 2458) ที่เป็นภาพประวัติศาสตร์วงการฟุตบอลไทย, สมุดบันทึกการแข่งขันและสมุดภาพเขียนฟุตบอล ของขุนประสิทธิ์วิทยกร (ฮก คุปตะวณิช) นักเลงลูกหนังสมัยรัชกาลที่ 6 - 7 ซึ่งเป็นจดหมายเหตุต้นฉบับตัวจริงเก่าแก่ที่สุดในปัจจุบัน, หนังสือ L’HISTOLRE MERVEILLESE DE LA COOPE DU MOND (ประวัติฟุตบอลโลก) ปรากฎชื่อทีมชาติสยามเข้าร่วมแข่งขันรอบคัดเลือกปรี-เวิล์ดคัพ ค.ศ. 1930 หลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งของทีมชาติไทยกับฟุตบอลโลก ครั้งที่ 1 ฯลฯ

ห้องโถงด้านหลังพระรูป (ห้องเลี้ยงรับรอง) จัดแสดงเรื่องพระผู้พระราชทานกำเนิดฟุตบอลสยามมีสิ่งควรค่าเพื่อแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ คือ พระบรมฉายาลักษณ์กว่า 50 พระรูปพร้อมคำบรรยาย, ลายพระราชหัตถเลขาการเลือกตั้งสภานายกและสภากรรมการคณะฟุตบอลแห่งสยาม พ.ศ. 2459 อันเป็นรัฐธรรมนูญกีฬาฉบับแรกของประเทศไทย, ภาพทรงถ่ายนักฟุตบอลสโมสรสวนกุหลาบ รูปเดียวในประวัติศาสตร์ลูกหนังสยาม, เข็มกลัดพระราชทานคณะฟุตบอลแห่งสยาม, บทความพระราชนิพนธ์โคลนติดล้อเรื่องฟุตบอล, ภาพล้อลายเส้นฝีพระหัตถ์เกี่ยวกับกีฬาฟุตบอล, หนังสือซ้อมรบเสือป่า (ลายพระราชหัตถเลขา) ทรงบันทึกพระราชกรณียกิจประจำวันและวิจารณ์การแข่งขันฟุตบอลถ้วยทองนักรบ พ.ศ. 2466,  หมวกพระราชทานตราพระมหามงกุฎและชุดแข่งขันคณะฟุตบอลสยาม (พิธีบวงสรวง ณ วชิราวุธวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2546), ภาพสโมสรราชแพทยาลัยชุดชนะเลิศถ้วยใหญ่ พ.ศ. 2460 - 2463 รวม 3 รูป ถ่ายหน้าตึกราชแพทยาลัย ของหลวงกายวิภาคบรรยาย (แถม ประภาสะวัต) นักเลงทีมชาติสยามชุดแรก ฯลฯ

ห้องโถงด้านซ้ายพระรูป (ห้องบรรทม) จัดแสดงเรื่อง ยุครุ่งเรืองของฟุตบอลไทย” (พ.ศ. 2500 - 2520) รวบรวมสิ่งอันทรงคุณค่าประวัติศาสตร์ของทีมชาติไทย อาทิ กระเป๋าเสื้อเบลเซอร์และบัตรประจำตัวนักฟุตบอลโอลิมปิค เมลเบิร์น ค.ศ. 1958, บันทึกเรื่อง ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าไปเตะลูกหนังที่โอลิมปิคต้นฉบับพิมพ์ดีดของวิวัฒน์ มิลินทจินดา หัวหน้าทีมชาติไทยชุดเมลเบิร์น, ธงตราสัญลักษณ์โอลิมปิคพร้อมลายมือชื่อนักฟุตบอลทีมชาติไทยชุดเม็กซิโก ค.ศ.1968, เสื้อทีมชาติไทยชุดโอลิมปิค เม็กซิโก ของนิวัตน์ ศรีสวัสดิ์, เสื้อเบลเซอร์เยาวชนทีมชาติไทยชุดชนะเลิศแห่งเอเชีย ครั้งที่ 4 (พ.ศ. 2505) ของทวีพงษ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา, สูจิบัตรการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย ครั้งที่ 4 วงการลูกหนังประสบความสำเร็จเป็นสมัยแรก, เหรียญชนะเลิศกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 3 (พ.ศ.2508) ระดับทัวร์นาเม้นท์รายการแรกของทีมชาติไทย (ชุดใหญ่), ลูกฟุตบอลพร้อมลายมือชื่อทีมชาติไทยชุดประวัติศาสตร์ที่เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติภูมิทีมชาติไทย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ตั้งแต่ พ.ศ. 2546 ถึงปัจจุบัน, เสื้อแข่งขันดาราเอเชียทีมชาติไทย (ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน, เฉลิมวุฒิ สง่าพล, พิชัย คงศรี, ดุสิต เฉลิมแสน), บัตรเข้าชมการแข่งขันฟุตบอลระหว่างชาติของทีมชาติไทย (พ.ศ.2537 ถึงปัจจุบัน) ฯลฯ

ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยามณ พระตำหนักทับแก้ว พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ดำเนินการโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (รางวัลสมาคมส่งเสริมกีฬายอดเยี่ยมร่วมกับอีก 10 องค์กรเพื่อสังคม) จำนวน 10,000,000 บาท (1 ล้านบาท / ปี) เป็นระยะเวลา 10 ปี และรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายนิตยสาร นักเลงฟุตบอลโดย สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพรรณวดี พระราชทานพระอนุญาตให้นำลายพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 6 ขึ้นเป็นหัวนิตยสารดังกล่าว ซึ่งเป็นการร่วมมือของนักข่าวสายกีฬาและนักเขียนสมัครเล่น (แฟนลูกหนัง) ที่ศรัทธาฟุตบอลไทย เพื่อต้องการให้คนไทยมีสื่อที่เน้นข้อมูล ข่าวสาร สถิติการแข่งขันและเรื่องราวเกี่ยวกับฟุตบอลไทย 100% อย่างแท้จริง นอกจากช่วยสมทบทุน จนทำให้สาธารณชนทั่วไปสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยามได้แล้วอย่างไม่เป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2550 เมื่องาน ฉลอง 100 ปีพระราชวังสนามจันทร์จวบจนวันนี้

พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยามอนุสรณ์สถานอนุรักษ์วัฒนธรรมการกีฬาของชาติ ปฐมบทแห่งเกียรติภูมิและก่อเกิดความภาคภูมิใจ แหล่งความรู้เชิงวิชาการอย่างเป็นทางการของกีฬาฟุตบอลสยามประเทศ เพื่อกรณีศึกษาค้นคว้า ต่อไปในอนาคต อีกหนึ่งแรงกระตุ้น จากรุ่นสู่รุ่น ต่อการร่วมก้าว สู่บันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการฟุตบอลไทย คือ “WORD CUP”หากแต่ ตำนานที่ยิ่งใหญ่ของนักเลงลูกหนังชาวสยาม เมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา ณ แผ่นดินฟุตบอลถ้วยทองนักรบในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังคงรอต้อนรับการมาเยี่ยมชมของคนที่รักกลิ่นสาปลูกหนังและเป็นกำลังใจให้ทีมชาติไทย

ไม่ว่าจะแพ้ หรือชนะ ผิดหวัง หรือสมหวัง แต่นี้คือทีมชาติของพวกเราคนไทยสายเลือดสยาม. 
จิรัฏฐ์  จันทะเสน ผู้เขียน
นิตยสารนักเลงฟุตบอล ปีที่ 2 ฉบับที่ 12 ประจำเดือนกันยายน - ตุลาคม 2551 


พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม


พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม


พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม


พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม


พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม


พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์