วัยดึกกับยาระบาย


 ปัญหาเรื่องท้องผูกนับว่าไม่เข้าใครออกใคร แต่ที่เห็นจะหนักถึงขั้นแข็งข้อก็คงต้องยกให้กับบรรดาผู้สูงอายุที่อาจพบได้มาก โดยภ.ญ.นันทกา วงศ์ไทย แผนกเภสัชกรรม โรงพยาบาลไทยนครินทร์ กล่าวว่า เฉลี่ยแล้วบุคคลที่แข็งแรงมีสุขภาพดีควรถ่ายอุจจาระอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ซึ่งท้องผูกอาจไม่ใช่โรคร้ายแรงแต่ก็เป็นอาการของหลายโรครวมกัน และภาวะใดก็ตามที่ทำให้น้ำในลำไส้ลดน้อยลงมีการเคลื่อนไหวของลำไส้ช้าลง มีการดูดซึมน้ำจากสารอาหารในลำไส้เพิ่มมากขึ้น จะมีผลให้อุจจาระแข็งและขับถ่ายช้าทำให้เกิดอาการท้องผูก จึงต้องไปพึ่งยาระบายหรือยาถ่าย

ยาระบายที่เหมาะกับผู้สูงอายุ

 - ยาที่ทำให้อุจจาระเกาะตัวเป็นก้อน (BULK FORMING LAXATIVES) เป็นสารที่ได้จากกากใยธรรมชาติ หรือกึ่งสังเคราะห์ บางส่วนของสารเหล่านี้ถูกย่อยได้ ส่วนที่ไม่ถูกย่อยจะดูดน้ำแล้วพองตัวได้สารข้นเหนียว หรือ GEL ทำให้เพิ่มปริมาณน้ำและเนื้ออุจจาระจึงเป็นการกระตุ้นให้สำไส้บีบตัว ดังนั้นจึงเหมาะที่จะใช้สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหา เรื่องการรับประทานอาหารที่มีกากน้อย ยาส่วนใหญ่จะออกฤทธิ์ภายใน 24 ชั่วโมง แต่บางรายอาจใช้เวลานานถึง 3 วัน กว่าจะเห็นผล ข้อควรระวังก็คือ ต้องดื่มน้ำตามอย่างน้อย 1-2 แก้ว เพื่อป้องกันการเกิดอุดตันของลำไส้และเพิ่มประสิทธิภาพการออกฤทธิ์ของยา ตัวอย่างได้แก่ รำข้าว เมล็ดแมงลัก ซึ่งได้จากเมล็ดที่สุกและแห้งของเกล็ดหอย หรือวุ้น

 - ยาที่ช่วยหล่อลื่น และทำให้อุจจาระ อ่อนนุ่ม (LUBRICANT OR EMOLLIENT LAXATIVES)
ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ทำให้หล่อลื่น อุจจาระนุ่ม และถ่ายสะดวก เหมาะกับผู้สูงวัยและเด็ก เพราะไม่ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ได้แก่ LIQUID PARAFFIN (MINERAL OIL) ยานี้ถ้าใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้ดูดซึมของ วิตามิน เอ, ดี, อี, เค ลดลง นอกจากนี้ยังมี OLIVE OIL, COTTON SEED OIL แต่ต้องให้ขนาดสูง

สำหรับผู้ที่ไม่ถ่ายมาหลายวัน อาจต้องใช้ยาสวน (ENEMAS) ซึ่งออกฤทธิ์โดยทำให้ลำไส้ตรง (RECTUM) ยืดตัวอย่างเร็ว ทำให้เกิดการขับถ่ายใน 5-10 นาที แต่ห้ามใช้ในรายที่มีอาการปวดท้อง, คลื่นไส้, อาเจียน

ข้อควรระวัง

การใช้ยาระบายเป็นประจำในผู้สูงอายุที่มีโรคแทรก เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หรือการทำงานของตับหรือไตผิดปกติ อาจทำให้เกิดการเสียดุลน้ำและเกลือแร่ ห้ามใช้ยาระบายในผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ โรคลำไส้อุดตันและไส้ติ่งอักเสบ การใช้ยาระบายและยาถ่าย เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ควรใช้เมื่อจำเป็น และเป็นทางเลือกสุดท้ายและไม่ควรใช้ติดต่อกันจนเกิดความเคยชิน เพราะจะทำให้การทำงานของลำไส้ผิดปกติไปทำให้เกิดภาวะที่จะหยุดใช้ยาไม่ได้ ถ้าผู้สูงวัยและผู้ใกล้ชิดเข้าใจถึงสาเหตุและกลไกของการเกิดอาการท้องผูกแล้วก็สามารถแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องโดยไม่ต้องพึ่งยา

การป้องกันอาการท้องผูกและการปฏิบัติตัวของผู้สูงวัย

 - รับประทานอาหาร ผัก ผลไม้ที่มีกากมากขึ้นเป็นประจำทุกวัน เช่น ผักบุ้ง, ยอดแค, ตำลึง, ชะอม, ขี้เหล็ก, มะละกอสุก, กล้วยสุก, ส้ม, สัปปะรด 
- ดื่มน้ำสะอาด ให้มากเพียงพอประมาณวันละ 6-8 แก้ว
 - ออกกำลังเพื่อเสริมสมรรถภาพของอวัยวะที่ช่วยในการขับถ่ายให้แข็งแรงคือฝึกการเกร็งหน้าท้อง เกร็งกล้ามเนื้อสะโพก และขมิบบริเวณฝีเย็บเพื่อสร้างความตึงตัวของกล้ามเนื้อให้มีกำลังในการขับถ่าย หรือเดินออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นให้ลำไส้เคลื่อนไหวได้ดี
 - จิตใจให้ผ่องใส สบายใจ ตัดความวิตกกังวลทั้งมวลเป็นผลให้ระบบอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายทำงานตามปกติ





ที่มา...E-Magazi

วัยดึกกับยาระบาย

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์