เมื่อสิบปีที่แล้วตอนผมกลับมาเมืองไทยก็มีผู้ใหญ่ในสภาอุตสาหกรรมให้ไปช่วยเรื่องปฏิรูประบบ Logistics
เพราะทำวิทยานิพนธ์ทางด้านการขนส่งสินค้าที่มีอายุสั้น จากการศึกษาพบว่ามีปัจจัยหลายๆอย่างทำให้ประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ หนึ่งในปัจจัยที่ใหญ่ที่สุดคือการคมนาคม จะเปรียบประเทศไทยก็เหมือนมนุษย์ที่นำ O2 ไปเลี้ยง Cell ต่างๆด้วยเส้นเลือดฝอยโดยมีเส้นเลือดใหญ่น้อยมากๆ ทำให้การขนส่งของไทยเป็นเลขสองหลักใน GDP
ผมเคยได้มีโอกาสสนทนากับคุณ จรัมพร โชติกเสถียร ซึ่งตอนนั้นเป็น กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด ท่านก็เปรียบเทียบการขนส่งในประเทศไทยให้ผมฟังว่า การขนถ่ายสินค้าเปรียบเสมือนรถไฟที่แต่ละตู้โบกี้มีหนึ่งหัวรถจักรประจำตู้ นั่นก็คือรถสิบล้อที่วิ่งติดกันเป็นพรืดบนถนนหลวงในต่างจังหวัดนั่นเอง
ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ก็ต้องการสะท้อนให้เห็นว่าเรายังไม่ได้เริ่มต้นตั้งไข่ปฏิรูประบบการขนส่งเลย
ซึ่งขนส่งมันก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งในระบบ Logistics ทั้งระบบ ผมเพียงเป็นห่วงว่าความสามารถในการแข่งขันของเราจะไม่มีทางตามประเทศเพื่อนบ้านทัน ผลในอนาคตมันออกมาค่อนข้างชัดเจนว่าประเทศไทยจะถูกลดการลงทุนทั้งในและนอกประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อไทยเข้าร่วมกับ AEC
เคยมีคนกล่าวว่าประเทศไทยจะเป็นหลุมดำแห่งการขนส่งในภูมิภาค
ซึ่งผมก็ไม่เห็นด้วยเพราะหลุมดำจะดูดทุกสิ่งเข้าหาศูนย์กลางแต่ขณะที่เรากำลังพยามผลักทุกอย่างออกไปจากตัวเรา หนึ่งในนั้นคือโอกาส ที่ผมเขียนมาทั้งหมดก็เพราะเสียดายโอกาส
ผมขอยอมรับว่าผมไม่ได้ใส่ปัจจัยทางการเมืองในการวิเคราะห์ในครั้งนี้
ทั้งนี้เพราะทั้งสองขั้วการเมืองใหญ่ก็เห็นพ้องว่ารถไฟรางคู่แบบมาตรฐานนั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำ แล้วผมมั่นใจว่าไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็จะต้องเริ่มสร้างรถไฟความเร็วสูงในไม่เกินห้าปีต่อจากนี้ แต่จะเสร็จเมื่อใดและจะทันการหรือไม่อนาคตจะเป็นตัวตัดสิน ผมขอรับผิดชอบในการวิเคราะห์และการพยากรณ์ทั้งหมด
ดร.พิสิฐ เหตระกูล
ผู้อำนวยการฝ่ายขายและจัดจำหน่ายนสพ.เดลินิวส์