โปรดระวัง น้ำแข็งใสๆ อาจไม่ปลอดภัย อย่างที่คุณคิด!


เริ่มเข้าเดือนที่จัดว่าร้อนที่สุดของปี และเป็นเดือนที่ยอดการขาย การบริโภคน้ำแข็งมากที่สุดตามอุณหภูมิที่ร้อนระอุด้วยเช่นกัน และในแต่ละมื้อ เราล้วนจะต้องได้เกี่ยวพันกับเจ้าน้ำแข็งใส ๆ นี้กันแทบทุกคนใช่ไหมคะ? ไม่ว่าจะมาจากการไปรับประทานอาหารนอกบ้านในแต่ละมื้อ ทั้งตามร้านอาหาร ภัตราคาร ไปจนถึงอาหารง่าย ๆ เช่นร้านอาหารตามสั่งทั่ว ๆ ไป จนถึงร้านเครื่องดื่มเย็นที่ขายตามริมท้องถนน หรือหน้าออฟฟิศกัน เคยคิดกันไหมค่ะว่า “เห็นหน้าตาใส ๆ เย็น ๆ แบบนี้ จะมีอันตรายแฝงอยู่ อย่างไม่น่าเชื่อเลยล่ะค่ะ”

หลายคนอาจสงสัยว่า เอ๊ะ!! น้ำแข็งก็ทำมาจากน้ำทั้งหมด 100% แล้วอันตรายจะมาจากตรงไหนกันล่ะ? จากประสบการณ์ของผู้เขียนในการเป็นที่ปรึกษา และการตรวจโรงงานผลิตน้ำแข็งนั้น จะมาเล่าให้ฟังกันค่ะว่า ที่มาที่ไป และอันตรายที่ควรระวังจากน้ำแข็งนั้น คืออะไร

น้ำแข็งที่เราบริโภคกันโดยส่วนใหญ่ มาจาก 2 แหล่งหลัก ๆ คือ น้ำแข็งที่ผลิตมาจากโรงงานผลิตน้ำแข็ง และ น้ำแข็งที่ผลิตจากเครื่องทำน้ำแข็งอัตโนมัติ ไม่นับที่แช่ทำเองในตู้เย็นบ้านเรากันนะคะ

อันตรายจากน้ำแข็งที่ว่านี้ ส่วนใหญ่ที่เราควรระมัดระวังกัน นั่นก็คือ เชื้อโรค หรือจุลินทรีย์ในกลุ่มที่ก่อให้เกิดโรคที่ปะปนมาจากการผลิตและการขนส่งกันนั่นเองค่ะ เห็นไหมค่ะว่า เป็นภัยร้ายที่มองไม่เห็นกันจริง ๆ หากเราเคยติดตามข่าวสารของ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขกันมาบ้าง อาจเคยได้ยินอยู่บ่อย ๆ กับการตรวจพบจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคในน้ำแข็งเกินมาตรฐาน ดังเช่น “พบโรงงานน้ำแข็งหลอดย่านบางเขน ปรับที่พักเป็นโรงงานผลิต อย.นำตัวอย่างส่งตรวจ พบปนเปื้อนเชื้อโรคอื้อ โดยเฉพาะ อี.โคไล จุลินทรีย์ซาลโมเนลล่า ตัวการโรคท้องร่วง เผยปกติเชื้อโรคดังกล่าวปนเปื้อนในอุจจาระ พร้อมสั่งหยุดผลิตทันควัน ขู่ฝ่าฝืนเจอโทษหนัก” อย่างนี้เป็นต้น ภัยที่น่ากลัวจากเจ้าน้ำแข็งนี้มาจากกระบวนการผลิตและการขนส่งของโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีจิตสำนึกที่ดีในการผลิตอาหารให้ปลอดภัย ตั้งแต่มาตรฐานน้ำที่จะนำมาผลิตน้ำแข็งเพื่อการบริโภค ก็ควรต้องเป็น น้ำมาตรฐานน้ำบริโภค และผู้เขียนเองมั่นใจค่ะว่า โรงงานน้ำแข็งที่ผลิตภายใต้สุขลักษณะที่ดี และผ่านการตรวจสอบคุณภาพ และการประเมินโรงงานตามกระทรวงสาธารณสุขนั้นมีน้อยมาก มาฟังกันต่อดีกว่าค่ะว่าประเภทน้ำแข็งที่เราต้องระวัง มีอะไรบ้าง

น้ำแข็งที่เราบริโภคกันในปัจจุบันมีมากมายหลายชนิด ตั้งแต่ น้ำแข็งหลอด น้ำแข็งเกล็ด น้ำแข็งโม่ หรือน้ำแข็งป่น ที่โม่และป่นมาจากน้ำแข็งซอง(สมัยก่อนเรียก น้ำแข็งมือ นึกภาพง่าย ๆ คือน้ำแข็งก้อนใหญ่ ๆ ที่นำมาทำเป็นน้ำแข็งใสกัน) ไปจนถึงน้ำแข็งที่เป็นหลอดเล็กที่นิยมใช้ในปัจจุบันกัน

เจ้าน้ำแข็งที่เราควรระวังมากที่สุด คือน้ำแข็งโม่ หรือน้ำแข็งป่น ที่ผลิตจากโรงงานที่ไม่ได้มาตารฐานนี่แหละค่ะ ที่ตามร้านอาหารตามสั่งทั่ว ๆ ไปนิยมใช้ใส่แก้วมาให้เรา เพื่อเติมน้ำอัดลม หรือน้ำหวานตามที่เราสั่งมาดื่ม หรือร้านขายเครื่องดื่ม เช่น กาแฟเย็น ชาเย็น และน้ำหวาน การปนเปื้อนของเชื้อโรคนี้ปนเปื้อนได้ตั้งแต่แหล่งน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำแข็ง กระบวนการตัดก้อนน้ำแข็งให้มีขนาดเล็กลงจากการใช้ใบมีดที่เป็นเหล็ก และมีสนิม แอบบอกนะคะว่าโรงงานเหล่านี้ คนงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวที่ต้องมีแรงและพลังกายในการยก การตัดก้อนน้ำแข็งเยอะ ๆ แอบเห็นอยู่บ่อย ๆ คะว่า ไม่สวมเสื้อทำงาน ใส่เพียงกางเกงขาสั้น และรองเท้าบูท เดินบนลานน้ำแข็งไปมา นี่เพิ่งแค่เริ่มต้นนะคะ ยังไม่นับรวมการบรรจุน้ำแข็งเหล่านี้มาส่งตามร้านอาหารที่เราจะรับประทานกัน บรรจุภัณฑ์ที่ใช้มักจะเป็นกระสอบเก่า ๆ ของกระสอบข้าวสารสีขาว ๆ กระสอบแป้ง และไม่แน่ใจว่าจะเอากระสอบสารเคมีอะไรมาใส่หรือเปล่า มีกระบวนการในการล้างทำความสะอาดกระสอบที่เวียนกลับมาใช้หรือไม่

แล้วเคยเห็นเวลาจะนำลงจารถขนส่งกันไหมค่ะ เหยียบขึ้นไปบนกระสอบเอย ลากลงมาที่พื้นเอย เห็นแล้วแทบไม่กล้าทานอาหารร้านนั้นเลยล่ะคะ ยังไม่รวมการปนเปื้อนเมื่อมาถึงที่ร้านแล้ว หากคุณแม่ค้าพ่อค้าไม่ใส่ใจ นำน้ำแข็งมาแช่ในถังที่แอบแช่หมูสด ผักสดที่ใช้เป็นวัตถุดิบต่าง ๆ ลงไปในถังน้ำแข็งอีก ฟังเท่านี้แล้วอาจเลิกทานน้ำแข็งประเภทนี้กันไปเลยใช่ไหม สังเกตไหมค่ะว่าชาวต่างชาติจะกลัวน้ำแข็งบ้านเรามาก ๆ เพราะหลายต่อหลายรายท้องเสีย ท้องร่วง อาหารเป็นพิษเข้าโรงพยาบาลเพียงเพราะน้ำแข็งกันมานักต่อนักแล้วล่ะคะ และหลายต่อหลายครั้งที่เราท้องเสียบ้าง อาหารเป็นพิษบ้าง แล้วมัวแต่ไปคิดถึงว่า เราทานอะไรเข้าไปน้า โดยที่ทุก ๆ คนจะมองข้ามน้ำแข็งที่เราทานกันเข้าไป เคยลองสังเกตว่าน้ำแข็งแต่ละร้านที่เราทานเข้าไปนั้นกันบ้างไหมคะ ว่าสะอาดหรือไม่ แค่ลองสังเกตดูก้นแก้ว(หากใส)เวลาที่น้ำแข็งละลายหมดแล้วน่ะคะ ถ้าผู้ที่ชอบสังกตน่าจะเคยเห็นเหมือนผู้เขียนว่ามีตะกอนสิ่งสกปรกตกอยู่ที่ก้นแก้วจำนวนมาก นี่แค่สิ่งที่มองเห็นได้เท่านั้นนะคะ

ดังนั้นหากเราอยากทานน้ำแข็งที่สะอาดและปลอดภัย จึงควรใส่ใจกับแหล่งที่มา และหัดสังเกตน้ำแข็งจากร้านที่เราทานอาหารกันค่ะว่า สะอาดเพียงพอหรือไม่ ควรเลือกทานน้ำแข็งที่ผลิตโดยเครื่องอัตโนมัติ (ที่ใช้กันทั่วไปตามโรงแรม หรือร้านสะดวกซื้อนั่นแหละค่ะ) เพราะมีความเสี่ยงน้อยกว่า หรือเลือกทานน้ำแข็งอนามัยที่ผ่านการรับรองคุณภาพตามระบบ GMP หรือระบบความปลอดภัยของอาหารกันดีกว่านะคะ เวลาไปซื้อเครื่องดื่มหรือทานอาหารตามร้านที่ไม่ได้ใช้น้ำแข็งที่ผลิตจากเครื่องอัตโนมัติ ก็ควรแอบสังเกตภาชนะที่ใส่น้ำแข็งกันนะคะว่ามีความสะอาดและสุขลักษณะที่ดีเพียงใด ไม่อย่างนั้นแล้ว เราอาจได้เชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคเข้ามาในร่างกายเรา จนทำให้เราเจ็บป่วยได้นะคะ

อยากมีสุขภาพที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย จึงควรใส่ใจสิ่งที่เราจะทานเข้าไปกันสักนิดนะคะ อย่าลืมประโยคสำคัญที่ว่า You are what you eat กันล่ะ


โปรดระวัง น้ำแข็งใสๆ อาจไม่ปลอดภัย อย่างที่คุณคิด!

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์