แพทย์อังกฤษเผยผลสำรวจยืนยันทุกครั้งที่คนเรามีอารมณ์ฉุนเฉียว อากาศที่ขับออกจากปอดจะลดน้อยลง 9 มิลลิลิตร ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคที่เกี่ยวกับปอด
ทีมแพทย์จากมหาวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ทำการศึกษาสุขภาพและวัดระดับของอารมณ์ความเกลียดชังด้วยวิธีที่เรียกว่า "คุ้ก เมดลีย์ สเกล" รวมทั้งดูกำลังของปอดด้วยการวัดปริมาณอากาศที่ถูกขับออกมาในแต่ละวินาที เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินการทำงานของปอด ในชายวัยกลางคน จำนวน 670 คน อายุระหว่าง 45-86 ปี มีอายุเฉลี่ยประมาณ 62 ปี โดยจัดให้มีการทดสอบกับอาสาสมัครทุกๆ 8.2 ปี ให้ได้ 3 ครั้ง
หลังจากตัดปัจจัยอื่น ๆ ที่จะทำให้ปอดเสื่อมเร็ว เช่น การสูบบุหรี่ออกไป นักวิจัยพบว่า อารมณ์โมโหก็จะส่งผลต่อการทำงานของปอด เนื่องจากอัตราการเกิดความเกลียดชังใกล้เคียงกับความสามารถในการทำงานของปอด โดยผู้ที่มีความเกลียดชังหรือโมโหมาก การทำงานของปอดก็จะลดลงมากกว่าคนที่อารมณ์ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงหรือมองโลกในแง่ดีมากกว่า โดยทุก ๆ ระดับของอารมณ์ที่ฉุนเฉียวมากขึ้น จะทำให้อากาศที่ขับออกมาจากปอดน้อยลงไป 9 มิลลิลิตร
อย่างไรก็ตาม การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า อารมณ์เกลียดชังและโมโหมีผลเกี่ยวเนื่องกับการเกิดโรคหัวใจ โรคหอบ หืด ความดันโลหิตสูง และโรคอื่น ๆ อีกมาก ดังนั้น การมองโลกในแง่ดี คงเป็นยาดีของการลดความเสี่ยงโรคภัยไข้เจ็บได้