มากคุณค่ายิ่งกว่า ‘ความหอม’ ‘น้ำอบ’ ภูมิปัญญาไทยคลายร้อน

มากคุณค่ายิ่งกว่า ‘ความหอม’ ‘น้ำอบ’ ภูมิปัญญาไทยคลายร้อน


สภาพอากาศร้อนอบอ้าวของฤดูกาล ภูมิปัญญาไทยโบราณที่นำมาใช้ดับคลายอุณหภูมิได้อย่างเหมาะสมเข้ากับวิถีชีวิตไทยมีด้วยกันหลายวิธี ทั้งในด้านอาหารคาวหวานหลากหลายเมนู เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย หรือแม้แต่เครื่องหอม อย่างเช่น “น้ำอบไทย”

สภาพอากาศร้อนอบอ้าวของฤดูกาล ภูมิปัญญาไทยโบราณที่นำมาใช้ดับคลายอุณหภูมิได้อย่างเหมาะสมเข้ากับวิถีชีวิตไทยมีด้วยกันหลายวิธีทั้งในด้านอาหารคาวหวานหลากหลายเมนู  เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย หรือแม้แต่เครื่องหอม อย่างเช่น “น้ำอบไทย” ที่นำมาใช้เพิ่มความเย็นสด ชื่นให้กับร่างกาย

ในช่วงสงกรานต์กลิ่นหอมละมุนชวนชื่นใจของน้ำอบไทยยิ่งมีความโดดเด่นโดยนำมาใช้สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุขอพรญาติผู้ใหญ่ที่เคารพระลึกถึง
 
รวมถึงการเล่นน้ำมอบความชุ่มฉ่ำเย็นกันในเทศกาล ผศ.ไศลเพชร ศรีสุวรรณ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหา วิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้ความรู้เรื่องเครื่องหอมไทยว่า เครื่องหอมของไทยมีด้วยกันอยู่หลายชนิดซึ่งการใช้ดอกไม้หอม ใบไม้ กิ่งไม้หรือเครื่องเทศนำมาใช้ทำเป็นเครื่องหอมทำได้หลายชนิดไม่ว่าจะเป็น น้ำอบไทย น้ำปรุง กระแจะจันทน์ แป้งร่ำ แป้งพวง ฯลฯ แต่ที่เป็นจุดเริ่มของเครื่องหอมไทยคือ น้ำอบไทย ซึ่งมีประวัติมานับแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา 


มากคุณค่ายิ่งกว่า ‘ความหอม’ ‘น้ำอบ’ ภูมิปัญญาไทยคลายร้อน

น้ำอบไทย เป็นเครื่องหอมชนิดหนึ่งที่มีมาแต่โบราณ มีกลิ่นหอมสดชื่นรัญจวนใจ

ซึ่งนับเป็นภูมิปัญญาของคนไทยสมัยก่อนที่ช่างคิดค้นนำรากไม้และกลิ่นหอมของดอกไม้นานาชนิดรวมถึงเครื่องกำยาน ชะมดเช็ด พิมเสน มาผสมผสานกันจนกระทั่งมีกลิ่นหอมละมุนละไม แม้จะไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า น้ำอบไทยเกิดขึ้นในสมัยใดแต่จากวรรณคดีขุนช้างขุนแผนกล่าวถึงขุนช้างได้นำน้ำอบประพรมซึ่งก็แสดงให้เห็นได้ว่าคนไทยใช้น้ำอบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา 

นอกจากนี้ในวังหลวงจะมีพนักงานฝ่าย ในดูแลเรื่องเครื่องหอมต่าง ๆ ซึ่งก็อาจสันนิษฐานว่าน้ำอบเริ่มกำเนิดจากวังหลวงก่อนโดยในสมัยรัชกาลที่ 5
 
แต่ละพระตำหนักจะมีการปรุงเครื่องหอมน้ำอบใช้เองซึ่งกลิ่นหอมของแต่ละตำหนักจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสูตรของใครจะชอบหรือเน้นกลิ่นใดเป็นพิเศษแต่อย่างไรก็ตามวิธีการจะเหมือนกัน ในการทำน้ำอบจึงถือได้ว่าเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องใช้ความชำนาญ ละเอียดอ่อนและความอดทนอย่างมาก

’น้ำอบของไทยสามารถนำมาใช้ได้หลายโอกาส ไม่ว่าจะเป็นงานมงคล รดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ช่วงวันสงกรานต์ สรงน้ำพระ  งานมงคลสมรส กระทั่งถึงงานอวมงคลในงานศพซึ่งจะรดน้ำศพด้วยน้ำอบไทย  การใช้น้ำอบไทยนับแต่วันวานถึงปัจจุบันยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันรูปแบบการใช้จะเห็นชัดเจนในงานประเพณี ไม่ได้นำมาใช้กับร่างกายเหมือนในวันวานซึ่งนิยมใช้น้ำอบประพรมตามร่างกายเพื่อเพิ่มความสดชื่นดับคลายร้อน

ด้วยความที่น้ำอบไทยเป็นสูตรน้ำ ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ทำจากธรรมชาติทั้งหมดก็จะไม่สร้างความระคายเคืองให้กับผิว นอกจากนี้ในงานวิจัยที่ศึกษายังพบว่า น้ำอบไทยซึ่งมีส่วนผสมของสมุนไพรยังช่วยดับพิษร้อน บรรเทาอาการแสบคันตามร่างกายหรือผดผื่นคันในช่วงฤดูร้อน โดยน้ำอบไทยสามารถนำมาใช้ได้ทุกวัน”

น้ำอบไทยโบราณในกรรมวิธีเดิมจะมีสีขาวนวลทำจากการสกัดใบเตยและสมุนไพรเครื่องหอมไทย ในน้ำอบจะประกอบด้วย ชะลูดหอม

ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรเครื่องหอมที่มีความเก่าแก่ พืชชนิดนี้เป็นไม้เถาเนื้อแข็งขนาดเล็ก เปลือกชั้นในมีกลิ่นหอมซึ่งการนำมาใช้นำเปลือกไปตากแห้งแล้วสไลด์เป็นชิ้น ๆ เป็นตัวหลักที่ทำให้น้ำอบไทยมีความหอม จันทน์เทศ เป็นตัวยืนอีกอย่างหนึ่งในน้ำอบไทย นอกจากนี้ยังมี แป้งร่ำ ซึ่งทำจากแป้งหินไม่ใช่ดินสอพอง แป้งร่ำจะเป็นสีขาวสะอาดสามารถนำมาใช้ผัดหน้า ผัดตัวได้ซึ่งก็จะนำมาร่ำให้หอม ในการร่ำก็จะร่ำด้วยเทียนอบหอมจะอบอยู่นานจนกว่าจะหอมเมื่อนำมาใช้แล้วจะส่งกลิ่นหอมละมุน หอมอ่อน ๆ ไม่ฉุน นอกจากนี้ยังมี ใบเตย โดยจะนำทั้งหมดมาสกัดร้อนด้วยการต้มและอาจมีการเติมสมุนไพรต่าง ๆ ลงไป

น้ำอบไทย จากที่มีมาแต่ครั้งสมัยอยุธยาจวบถึงรัตนโกสินทร์ก็ยังคงรักษารูปแบบเดิมไว้ การสืบทอดนับแต่วันวานมีสูตรเดียว

และด้วยความที่อาจารย์สอนวิชาเครื่องหอมในภาควิชาเทคโนโลยีคณะคหกรรม ศาสตร์ ที่ผ่านมาได้นำมาพัฒนาซึ่งจากงานวิจัยเรื่องการพัฒนาน้ำอบไทยสามฤดู งานวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาช่วยพัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์ไทยที่เป็นภูมิปัญญาไทยที่มีมาแต่โบราณ สร้างงานและมูลค่าเพิ่มซึ่งนำไม้หอมไทยที่มีในท้องถิ่นสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่หลากหลายขึ้น

“น้ำอบไทยสามฤดูได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝนและฤดูหนาว จะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน อย่าง ฤดูร้อน สภาพอากาศที่ร้อนจัดทำให้มีเหงื่อไคลมากและมักมีอาการคัน ผิวหนังอักเสบได้จึงพัฒนาเป็น สูตรที่ผสมสมุนไพรดับคลายร้อน  อย่างเช่น ขมิ้นลงไปซึ่งนอกจากให้สีเหลืองสวยงามแล้วยังมีสรรพคุณระงับอาการอักเสบของผิวหนัง อาการคัน ฯลฯ อีกทั้งปรับกลิ่นใส่กลิ่นหอมของมะลิ  ฤดูฝนอากาศชื้นมักเกิดเชื้อราในงานวิจัยจึงคิดค้นสูตรการระงับการเจริญเติบโตของเชื้อราผสมสมุนไพรที่มีสรรพคุณอีกทั้งใส่กลิ่นจันทน์กะพ้อ ส่วนฤดูหนาว ทำเป็นสูตรดอก บัวซึ่งก็มีหลากหลายพันธุ์ กลิ่นจะเน้นแบบดั้งเดิมคือหอมชื่นใจไม่ฉูดฉาด เป็นต้น โดยงานวิจัยดังกล่าวได้รับรางวัลงานวิจัยดีเด่นและรางวัลนวัต กรรมสร้างสรรค์หลายรางวัล”

น้ำอบไทย ถือได้ว่าเป็นน้ำหอมของไทยดั้งเดิมที่มีคุณค่าอย่างมาก นอกจากจะไม่มีสารเคมีใด ๆ แล้วยังผลิตจากพืชสมุนไพรไทยถ่ายทอดถึงภูมิปัญญาไทยจึงไม่ควรให้สูญหายไป และนอกจากน้ำอบมักจะได้ยินชื่อของ น้ำปรุง คู่กันมาซึ่งน้ำปรุงเป็นเครื่องหอมที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5   

น้ำปรุงจะมีส่วนผสมของแอลกอ ฮอล์เป็นส่วนประกอบ โดยขณะนั้นเริ่มมีแอลกอ ฮอล์เข้ามาใช้จึงมีความคล้ายกับน้ำหอมฝรั่ง
 
แต่ยังคงมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์และมีสมุน ไพรไทยอยู่ในน้ำปรุง และเนื่องจากแต่เดิมน้ำปรุงมีกลิ่นเดียว ที่ผ่านมาอาจารย์ก็ได้ศึกษาวิจัยพัฒนาขึ้นอีกหลายกลิ่นโดยนำพืชที่เป็นดอกไม้หอมของไทยมาปรุง อาทิ กลิ่นดอกบัว ชำมะนาด กุหลาบ จำปี เตยหอม ดอกปีบ ดอกโมกข์ ฯลฯ แต่อย่างไรแล้วสามารถที่จะทำได้มากกว่านี้ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบซึ่งในปัจจุบันหายากมากขึ้น น้ำอบและน้ำปรุงมักมาคู่กันแต่การใช้น้ำอบจะมากกว่าโดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์ซึ่งความโดดเด่นอีกด้านของน้ำอบคือราคาไม่สูง  

น้ำอบไทย ยังสามารถทำใช้กันเองในครอบครัวได้ซึ่งส่วนผสมหลักได้แก่

ใบเตย ชะลูด แป้งร่ำ จันทน์เทศ วิธีการทำอาจต้องใช้เวลา โดยเฉพาะการอบร่ำเพื่อให้น้ำอบมีความหอม การทำน้ำอบจะนำสมุนไพรที่กล่าวมาต้มรวมกัน จากนั้นกรองแต่น้ำนำมาใช้ผสมกับส่วนผสมที่เหลือ ขั้นตอนต่อมาก็นำไปอบร่ำซึ่งต้องใช้เวลาเพื่อให้มีความหอม โดยคำว่าอบร่ำหมายถึงอบซ้ำหลายครั้งกระทั่งหอมลงไปในเนื้อ ในน้ำซึ่งเมื่อทำเสร็จสมบูรณ์ก็จะสามารถเก็บไว้ใช้ได้นาน  อีกทั้งยังมีความเหมาะที่จะนำมาใช้ในช่วงเวลานี้ที่อากาศร้อนอบอ้าว

เครื่องหอมไทยแต่ละชนิดมีเอก ลักษณ์โดดเด่น เช่นเดียวกับ น้ำอบไทยที่อยู่เคียงคู่กับสังคมไทยและเทศกาลสงกรานต์ไทยมาเนิ่นนาน การนำกลับมาใช้นอกจากเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาไทยแล้วยังเป็นการสานต่อองค์ความรู้หลากหลายด้านที่รวมอยู่ในน้ำอบไทยอีกด้วย.

ทีมวาไรตี้


มากคุณค่ายิ่งกว่า ‘ความหอม’ ‘น้ำอบ’ ภูมิปัญญาไทยคลายร้อน


มากคุณค่ายิ่งกว่า ‘ความหอม’ ‘น้ำอบ’ ภูมิปัญญาไทยคลายร้อน


มากคุณค่ายิ่งกว่า ‘ความหอม’ ‘น้ำอบ’ ภูมิปัญญาไทยคลายร้อน

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์