เมื่อวันที่ 14 เมษายน นายวิษณุ เอื้อชูเกียรติ กรรมการวิชาการสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่า
บนดาวอังคารมีหลุมอุกกาบาตจำนวนมาก ในจำนวนนี้สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล ได้ตั้งชื่อตามชื่ออำเภอและจังหวัดในประเทศไทย 7 หลุม ได้แก่ Chatturat อ. จัตุรัส (ชัยภูมิ) Kantang อ. กันตัง (ตรัง) Nan จ. น่าน Phon อ. พล (ขอนแก่น) Tak จ. ตาก Thom ไม่พบชื่อนี้โดยตรง แต่มี อ. นาทม (นครพนม) และ Yala จ. ยะลา สำหรับการตั้งชื่อหลุมดาวอังคารนั้น สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล ได้ตั้งคณะอนุกรรมการตั้งชื่อดาวอังคารเมื่อปี ค.ศ.1919
ต่อมาในปี 1957 เริ่มเข้าสู่ยุคอวกาศเมื่อมีการส่งสปุตนิก ดาวเทียมดวงแรกของโลกขึ้นสู่อวกาศ
ตามมาด้วยการสำรวจดวงจันทร์ในโครงการอะพอลโลของสหรัฐอเมริกา โครงการลูนา และซอนด์ ของสหภาพโซเวียต อีกทั้งยานอวกาศที่ถูกส่งไปสำรวจดาวเคราะห์ดวงอื่น เช่นยานชุดวอยเอเจอร์ มารีเนอร์ หรือยานกาลิเลโอ เป็นต้น เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้งานตั้งชื่อของสหพันธ์ฯ กลายเป็นงานช้าง เพราะนอกจากจะได้ข้อมูลดวงจันทร์และดาวอังคารที่ละเอียดขึ้นแล้ว ยังมีภาพจากดาวพุธ ศุกร์ กับดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี และเสาร์ โถมเข้ามาให้ตั้งชื่ออีก ทั้งนี้การตั้งชื่อสามารถทำได้เฉพาะกับดาวเคราะห์และดวงจันทร์ที่เป็นก้อนหิน รวมทั้งดาวเคราะห์น้อยเท่านั้น จะตั้งชื่อให้อะไรบนดาวเคราะห์แก๊สขนาดยักษ์ อย่างพฤหัสบดี เสาร์ ยูเรนัส และเนปจูน ไม่ได้ เพราะผิวนอกที่เราเห็นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
"ล่าสุดได้กำหนดมาตรฐานสำหรับการตั้งชื่อภูมิสถานบนดาวอังคาร ดังนี้ 1.หลุมขนาดใหญ่ ตั้งชื่อตามชื่อนักวิทยาศาสตร์ผู้มีส่วนสร้างความก้าวหน้าแก่การศึกษาดาวอังคาร และนักเขียนหรือคนอื่นที่มีผลงานเกี่ยวกับเรื่องของดาวอังคาร 2.หลุมขนาดเล็ก ตั้งชื่อตามชื่อเมืองในโลก ที่มีประชากรน้อยกว่า 100,000 คน 3.หุบเขาขนาดใหญ่ ใช้ชื่อว่าคำว่า ดาวอังคาร หรือ ดาว ในภาษาต่าง ๆ อย่าง ดาวvallis ซึ่งเป็นร่องน้ำสำคัญที่พบบนดาวอังคาร 4.หุบเขาขนาดเล็ก ชื่อแม่น้ำในสมัยโบราณ หรือชื่อปัจจุบัน"นายวิษณุ กล่าว
และว่า จะเห็นได้ว่าเกือบทุกกรณีสามารถเอาชื่อจากประเทศหรือวัฒนธรรมต่าง ๆ ในโลกมาใช้ได้
ซึ่งคณะอนุกรรมการก็ได้พยายามทำอย่างเสมอภาค คือหยิบจากที่โน่นที่นี่มาตามส่วนของทวีปและประเทศที่มีในโลก รวมทั้งจากประเทศไทย ถือเป็นการให้เกียรติกับทุกประเทศ
ด้านนายอารี สวัสดี นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่า การตั้งชื่อหลุมบนดาวอังคาร จะไม่ใช้ชื่อยาว ตั้งชื่อไม่เกิน 1-2 คำ เพื่อให้กระชับ
ซึ่งแต่ละชื่อจะบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของประเทศนั้นๆ คือชื่อนั้น จะมีเรียกแค่ในประเทศนั้นโดยเฉพาะ เป็นต้น อย่างไรก็ตามตลอดเดือนเมษายน เป็นช่วงที่ดาวอังคารเคลื่อนเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 2 ปี เวลา 20.00น. สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า อยู่ด้านซ้ายมือของดวงจันทร์ เป็นดาวเคราะห์สีแดงสว่างสุกใส สวยงาม และวันที่ 14 เมษายนทางสมาคมฯ ก็ได้จัดกิจกรรมตั้งกล้องดูดาวส่องดูขั้วน้ำแข็งดาวอังคารใกล้โลกด้วย