สำรวจค่าขนมนักเรียน ครองชีพพุ่ง เท่าไหร่ถึงพอ


เปิดเทอมใหม่ ครั้งใดพ่อแม่-ผู้ปกครองหลายคนต้องรับภาระจากค่าใช้จ่ายด้านการเรียน-การศึกษา ของบุตรหลานที่ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆตามสภาวะทางเศรษฐกิจ ทั้งค่าชุดนักเรียน-อุปกรณ์การเรียน รวมไปถึง ค่าเทอม-ค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกต้องควักจ่าย

แน่นอนว่า แต่ละครอบครัวมีการให้เงินค่าขนมลูกไม่เท่ากัน มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับฐานะ และความเหมาะสมตามวัย เดลินิวส์ออนไลน์ สัมภาษณ์เด็กนักเรียนในชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา พร้อมทั้งผู้ปกครอง ว่าให้เงินค่าขนมลูกแต่ละวัยไปโรงเรียนกันคนละเท่าไร และเด็กนั้นใช้จ่ายอย่างไรบ้าง

เริ่มจากเด็กในวัยประถมฯ ด.ญ.ปวริศา นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนราชินีบน กล่าวว่า ตนได้เงินค่าขนมไปโรงเรียนวันละ 60 บาท โดยได้รับจำนวนเท่านี้มาหลายปีแล้ว จะใช้ซื้อขนมและน้ำดื่มในช่วงพักกลางวัน ในส่วนของค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในตอนเช้าและเย็นนั้น ไม่ต้องเสีย เพราะแม่จะเป็นคนมารับที่โรงเรียนและจ่ายให้ นอกจากนี้ยังไม่ต้องเสียค่าอาหารกลางวันอีกด้วย เพราะที่โรงเรียนมีอาหารกลางวันและอาหารว่างอยู่แล้ว ดังนั้นวันละ 60 บาทจึงเพียงพอสำหรับตน


ด้าน นางกมลชนก ผู้ปกครองของ ด.ญ.ปวริศา กล่าวว่า ตนจะให้ค่าขนมบุตรสาวไปโรงเรียน วันละ 60 บาท เพราะเนื่องจากที่โรงเรียนนั้นมีอาหารกลางวันและของว่างเตรียมให้อยู่แล้ว จึงลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ นอกจากนี้ยังไม่ต้องเสียเงินค่ารถโดยสาร ในการเดินทางไปโรงเรียนเอง เพราะตนเป็นคนไปรับไปส่ง ทั้งนี้ในส่วนของค่าอุปกรณ์การเรียนหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ถือเป็นต่างหากจากค่าขนม และบุตรสาวก็ไม่เคยขอค่าขนมเพิ่ม

ถัดมาที่วัยมัธยมฯ นาย อนุสรณ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทพศิรินทร์ร่มเกล้า กล่าวว่า ตนจะได้รับเงินค่าขนมไปโรงเรียนวันละ 100 บาท โดยจะใช้ซื้ออาหารและเครื่องดื่ม ในตอนเช้าก่อนเข้าเรียน และกลางวัน เนื่องจากที่โรงเรียนไม่มีอาหารฟรี ส่วนของค่ารถนั้น ตนไม่ต้องเสียเพราะปั่นจักรยานไปโรงเรียนเอง ส่วนของค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อย่างอุปกรณ์การเรียน ค่าเทอมนั้น ตนจะขอผู้ปกครองบางส่วน และใช้เงินจากการทำงานพิเศษในช่วงปิดภาคเรียน บางส่วน เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง

ด้านนางสาวอรุณ ผู้ปกครองของ นาย อนุสรณ์ กล่าวว่า ตนจะให้เงินบุตรชายเป็นรายวัน คือวันละ 100บาท เพื่อใช้จ่ายในค่าอาหารและน้ำดื่มที่โรงเรียน ทั้งนี้ส่วนของค่าใช้จ่ายอื่น ๆ บุตรชายก็จะมาขอเพิ่มบ้าง อย่างเช่น ทำรายงาน ซื้ออุปกรณ์การเรียน หรือทำกิจกรรมพิเศษกับทางโรงเรียน แต่ทั้งนี้ช่วงปิดเทอม บุตรชายได้ทำงานพิเศษเพื่อ นำเงินมาใช้จ่ายในช่วงเปิดภาคเรียนเองด้วย จึงทำให้ภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลดลง นอกจากนี้เวลาที่บุตรชายอยากได้อะไร มักจะเก็บเงินซื้อเองเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่เป็นการสร้างภาระให้กับพ่อแม่จนเกินไป

การให้ค่าขนมนั้นมีความสำคัญ ผู้ปกครองควรพูดคุยกับเด็กว่าเงินที่ได้รับนั้นเพียงพอหรือไม่อย่างไร ในยุคที่ค่าครองชีพสูงแบบนี้ เพราะจะทำให้เด็กรู้จักการบริหารจัดการเงินที่ตนมี ให้เพียงพอกับการใช้จ่ายในแต่ละวัน ไม่ว่าเด็ก ๆ นั้นจะได้เงินมากน้อยอย่างไรก็ตาม


สำรวจค่าขนมนักเรียน ครองชีพพุ่ง เท่าไหร่ถึงพอ

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์