โรคกรดไหลย้อน ถือเป็นโรคยอดฮิตของคนไทยในปัจจุบัน ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องเร่งรีบแข่งขันกันตลอดเวลา ด้วยเกรงว่าจะไปทำงานไม่ทันบ้าง ไปโรงเรียนสายบ้าง ส่งผลต่อการรับประทานอาหาร ที่ต้องปรับให้ทันกับเวลา ทำให้เคี้ยวไม่ละเอียด รวมถึงการกินมากเกินไป โดยเฉพาะมื้อเย็น อาจกลายเป็นโรคกรดไหลย้อนได้ ซึ่งหากไม่รุนแรงเพราะไม่มีโรคแทรกซ้อนก็สามารถรักษาให้หายได้
นายแพทย์ธงชัย ปรีชาชัยสุรัตน์ อายุรแพทย์ โรงพยาบาลธนบุรี 2 ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ว่า อาการที่เห็นได้ชัดของโรคกรดไหลย้อนคือ แสบร้อนกลางหน้าอก รู้สึกว่ามีของเหลวหรือแก๊สในร่างกายไหลขึ้นมาจากบริเวณท้องผ่านออกมาที่คอหรือที่อก มีการเรอที่รู้สึกว่ามีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมออกมาที่คอและปาก ซึ่งเป็นเพราะมีน้ำดีหรือกรดที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการย่อยอาหารไหลย้อนจากกระเพาะอาหารผ่านหลอดอาหารขึ้นมาที่อกและคอนั่นเอง
ส่วนอาการอื่น ๆ ที่พบได้อีกก็เช่น มีอาการเจ็บคอเรื้อรังเป็นเวลานาน เป็นไซนัสอักเสบ มีอาการของโรคหอบหืด ฟันผุเรื้อรัง ถ้ามีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยจะต้องตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียดก่อน เช่น ปรึกษาแพทย์หู คอ จมูก หรือทันตแพทย์ก่อนที่จะสรุปอาการว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคมีหลายทฤษฎี แต่จะมีผลที่ทำให้หูรูดกระเพาะอาหารซึ่งอยู่ปลายหลอด อาหารต่อกับกระเพาะอาหาร เป็นประตูเปิด-ปิดให้อาหารเข้าไปในกระเพาะอาหาร ซึ่งปกติทำงานโดยอัตโนมัติผิดปกติ
เมื่อเรารับประทานอาหารและกลืนลงไปทางหลอดอาหาร หูรูดนี้จะเปิดออกให้อาหารเข้าไปในกระเพาะอาหารเพื่อทำการย่อย ขณะทำการย่อยอาหารด้วยน้ำย่อยที่มีฤทธิ์ทางเคมีเป็นกรดนี้หูรูดจะปิดลงและปิดตลอดเวลาที่ไม่มีอาหารจากหลอดอาหารไหลลงมา แต่เมื่อหูรูดทำงานผิดปกติไป เช่น เปิดหรือคลายตัวออกในเวลาที่ไม่มีอาหารลงไป ทำให้กรดหรือน้ำย่อย น้ำดี และแก๊สที่อยู่ในกระเพาะอาหารดันขึ้นมาตามหลอดอาหาร เราจึงรู้สึกแสบร้อนกลางหน้าอก