ที่เห็นอยู่นี้คือปลาฉลามน้ำลึกพันธุ์หนึ่งซึ่งพบเห็นกันไม่บ่อยนัก นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาเอง เคยพบเห็นเจ้าตัวนี้มาก่อนหน้านี้เพียง 1 ครั้งเท่านั้นเอง หน้าตาที่ดุร้ายและฟันที่แหลมมีลักษณะคล้ายมีดดาบหรือกริช ทำให้มันถูกเรียกว่า "ก็อบบลิน ชาร์ค" หรือ "ฉลามปิศาจ"
ฉลามปิศาจ ปลาฉลามน้ำลึกหายาก
"ฉลามปิศาจ" มักพบกันบ่อยกว่า แต่ก็ไม่บ่อยนักในทะเลโดยรอบประเทศญี่ปุ่น ในอ่าวเม็กซิโก เคยมีชาวประมงจับได้เมื่อปี 2000 วัดความยาวได้ 5.5 เมตร ถือว่าเป็นฉลามปิศาจที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เคยจับได้ ตัวที่เห็นในภาพเป็นตัวที่สองที่ชาวประมงจับได้จากการทำประมงกุ้งในระดับน้ำลึก 610 เมตร ในพื้นที่ทะเลนอกชายฝั่งคีย์เวสต์ ของรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ความยาวอยู่ที่ 4.6 เมตร เล็กกว่าตัวก่อน แต่ก็ใหญ่กว่าฉลามปิศาจที่เคยพบกันที่ญี่ปุ่นซึ่งมีความยาวระหว่าง 2.1-2.4 เมตรเท่านั้นเอง
จอห์น คาร์ลสัน นักชีววิทยาทางทะเล ของสำนักงานสมุทรศาสตร์และชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (โนอา) ของสหรัฐอเมริกา บอกว่า มนุษย์มีองค์ความรู้เกี่ยวกับฉลามนี้น้อยมาก ตั้งแต่เรื่องช่วงอายุว่ามากที่สุดเท่าไหร่ โตเร็วขนาดไหน การดูแลเลี้ยงลูกอ่อนทำกันอย่างไร สาเหตุสำคัญเนื่องจากมันเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในระดับน้ำลึกมาก กล่าวคือที่ระดับความลึกอย่างน้อย 300 เมตรเรื่อยไปจนถึง 900 เมตร ซึ่งไม่ค่อยมีใครสำรวจกันมากมายนัก
คาร์ลสันบอกว่า รู้กันเพียงว่า มันอาศัยปลาขนาดเล็กและปลาหมึกเป็นอาหาร โดยอาศัยฟันที่แหลมคมเหมือนมีดของมันจัดการเหยื่อ หน้าตาที่ดุร้ายของมันทำให้หลายคนคิดว่ามันน่าจะเป็นสายพันธุ์เก่าแก่ แต่คาร์ลสันระบุว่า ฉลามเป็นปลาเก่าแก่จากยุคไดโนเสาร์ก็จริงอยู่ แต่ "ฉลามปิศาจ" กลับเป็นสายพันธุ์ที่แยกออกมาใหม่มาก แม้หน้าตาจะเหมือนร่วมยุคกับไดโนเสาร์ก็ตาม