บลัดฮาวด์รถที่เร็วที่สุดในโลก?!

"บลัดฮาวด์"รถที่เร็วที่สุดในโลก?!


สถิติ มีไว้เพื่อทำลาย ดังนั้นอะไรก็ตามที่สามารถวัดเป็นสถิติจดเอาไว้ได้ ก็จะมีคนพยายามทำลายอยู่เสมอ ในเรื่องของความเร็วของยานพาหนะบนพื้นดินก็เช่นเดียวกัน เราสร้างสถิติและทำลายสถิติเรื่อยมาหลายครั้งในช่วง 100 ปีมานี้


 เมื่อเดือนพฤษภาคม 100 ปีที่ผ่านมา ลิดสตัน ฮอร์นสเตด เคยทำสถิติจ้าวความเร็วของโลกเอาไว้ด้วยรถยนต์ "เบนซ์ นัมเบอร์ 3"

ที่เป็นรถยนต์คันแรกซึ่งสามารถทำความเร็วได้ถึง 124 ไมล์ต่อชั่วโมง (ราว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ห่างกันไกลมากกับสถิติโลกในปัจจุบัน ที่เป็นของรถยนต์ชื่อ "ธรัสต์ เอสเอสซี" ซึ่งขับโดย แอนดี้ กรีน ที่ทำความเร็วสูงสุดเอาไว้ที่ 163 ไมล์ต่อชั่วโมง (ราว 1,228 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) อันเป็นความเร็วสูงสุดเท่าที่เคยมีทำกันในการขับเคลื่อนไปบนถนนเมื่อปี 1997 แล้วก็ทำท่าว่าจะเป็นสถิติที่ยืนยงอยู่ยาวนาน เพราะนั่นแทบจะเป็นความเร็วระดับ "ซุปเปอร์โซนิค" หรือ "มัค1" ความเร็วที่เทียบเท่ากับความเร็วของเสียงกันแล้ว


 แต่เรื่องนี้ก็พิสูจน์ว่าความพยายามที่จะสร้างสถิติอันเป็นที่สุดนั้น เป็นความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุดจริงๆ
 
เพราะ 10 ปีให้หลัง ทีมงานที่อยู่เบื้องหลัง "ธรัสต์ เอสเอสซี" ก็เริ่มเตรียมการทำลายสถิติความเร็วสูงสุดในโลกที่ว่านั้นใหม่อีกครั้ง
คราวนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 1,000 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือกว่า 1,600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง


 ทีมงานธรัสต์ เอสเอสซี ที่นำโดย รอน เอเยอร์ส กับ ริชาร์ด โนเบิล และ เบน อีแวนส์ วิศวกรจากมหาวิทยาลัย สวอนซี ประเทศอังกฤษ เริ่มต้นงานออกแบบรถยนต์ตัวใหม่ เครื่องยนต์ใหม่ และเตรียมการเพื่อการทดลอง กับ การสร้างสถิติใหม่อีกครั้งตั้งแต่ปี 2007 ที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่การขบคิดรายละเอียดของการออกแบบรถยนต์สุดยอดแห่งความเร็วดังกล่าวใหม่หมด


 อุปสรรคสำคัญประการแรกสุด ก็คือ ที่ความเร็วระดับนั้น ทำอย่างไรไม่ให้ส่วนหัวของรถ ลอยขึ้นจากพื้นเหมือนกับที่เครื่องบินยกตัวขึ้นขณะเทค ออฟจากรันเวย์ (ซึ่งใช้ความเร็วอยู่ที่ราว 150 ไมล์ต่อชั่วโมงเท่านั้น)


 ประการถัดมาคือเรื่องของเครื่องยนต์ เครื่องยนต์แบบสันดาปภายในที่ใช้อยู่ในรถยนต์ทั่วไป เป็นอันตัดทิ้งไปได้หลังจากที่ไม่เคยทำสถิติความเร็วเกินกว่า 400 ไมล์ต่อชั่วโมง

(ราว 644 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) อีกเลย เครื่องยนต์ใหม่ที่เร็วกว่านั้นจำเป็นต้องหันมาใช้เครื่องยนต์เจ็ท และเครื่องยนต์แบบเดียวกับที่ใช้ในจรวดแทน ในเวลาเดียวกัน การออกแบบก็จำเป็นต้องทำให้ตัวรถแข็งแกร่งทนทานมากขึ้นกว่าเดิม เพรียวและปราดเปรียวมากขึ้นกว่าเดิมพร้อมกันไปด้วย


 การปรับเปลี่ยนแก้ไขการออกแบบในทุกครั้ง จำเป็นต้องศึกษาและคำนวณสภาวะแอโรไดนามิคส์ใหม่ทั้งหมด
 
ทั้งเพื่อดูรูปแบบของอากาศที่ไหลผ่านตัวรถ เรื่อยไปจนถึงแรงต้านที่กระทำต่อตัวรถ สมการคณิตศาสตร์ในเรื่องนี้สลับซับซ้อนเสียจนกลายเป็นปัญหาสำคัญในการทำลายสถิติใหม่ๆในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงยุคของ "ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์" ที่มีพลังประมวลผลมหาศาล จำลองและคำนวณทุกอย่างได้ รวมถึงการนำเอาแบบที่ออกแบบไว้ไปทดลองวิ่งในอุโมงค์ลมเสมือนจริง ที่สร้างขึ้นด้วยซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ดังกล่าว


 ปัญหาการยกตัวลอยจากพื้นของด้านหัวรถ กลับแก้ไขได้ง่ายกว่าที่คิด

ด้วยการทำให้สภาพแอโรไดนามิคส์ด้านบนและด้านล่างของหัวรถได้สมมาตรกัน ปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันก็คือ การยกตัวของส่วนท้ายรถจากแรงกระแทกมหาศาลของเครื่องยนต์ที่กระทำต่อส่วนท้าย ซึ่งต้องใช้เวลาแก้ปัญหานานถึง 6 เดือนจึงได้งานออกแบบส่วนท้ายที่เรียกว่า "เดลต้า แฟริง" ที่จะปกป้องส่วนฐานและด้านใต้ของตัวรถจากแรงช็อคเวฟเมื่อตัวรถทะยานด้วยความเร็วเหนือเสียง ไม่ทำให้ท้ายรถยกตัวขึ้นขณะอยู่ที่ความเร็ว 0.9 มัคเท่านั้น พร้อมติดตั้ง "ฟิน" หรือส่วนหางในแนวตั้งเพื่อสร้างความเสถียรให้ตัวรถ


 ผลลัพธ์ที่ได้ คือเจ้า "บลัดฮาวด์ เอสเอสซี" ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมทดลองรถในราวปี 2015 ก่อนที่จะไปวิ่งเพื่อทำลายสถิติบนถนนความยาว 12 ไมล์ (19.3 กิโลเมตร) กว้าง 3.2 กิโลเมตร บนพื้นราบ ฮัคสกีน แพน ในแอฟริกาใต้ในปี 2006


 เพื่อความเป็นเจ้าของสถิติเร็วที่สุดของรถยนต์ครั้งใหม่ของโลกนั่นเอง


บลัดฮาวด์รถที่เร็วที่สุดในโลก?!

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์