น้ำมันแต่ละชนิดมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แตกต่างกัน และก็เหมาะกับการปรุงอาหารประเภทที่ต่างกัน เราจะใช้น้ำมันในการทำอาหารเพื่อสุขภาพ ให้ปลอดภัยอย่างไรบ้าง
1. น้ำมันพืช ที่ดีต้องไม่เป็นตะกอน ไม่มีกลิ่นหืน และควรมีสีเหลืองบ้าง ไม่ใสเกินไป จึงจะเป็นน้ำมันที่ไม่ผ่านการฟอกสีจนเบต้าแคโรทีนหายหมด
2. การทอดที่ต้องใช้ความร้อนสูงและใช้น้ำมันปริมาณมาก เช่น ไก่ทอด ปลาทอด ควรใช้น้ำมันปาล์มโอเลอิน ที่สกัดกรดไขมันอิ่มตัวออกบางส่วนแล้ว หรือน้ำมันรำข้าว ซึ่งไม่กลายเป็นสารอนุมูลอิสระได้ง่ายเมื่อถูกความร้อนจัดเหมือนน้ำมันเมล็ดทานตะวัน ถั่วเหลือง
3. การทำอาหารที่ไม่ต้องผ่านความร้อน เช่นน้ำสลัด ควรใช้น้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง และไม่แข็งตัวในอุณหภูมิต่ำ 5-10 องศาเซลเซียส เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลือง
4. ในการผัดอาหารใช้น้ำมันชนิดใดก็ได้ เช่น น้ำมันมะกอก ถั่วเหลือง รำข้าว แต่ควรใส่ปริมาณน้อยที่สุด
5. ไม่ควรทอดอาหารที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ หรือเร่งไฟแรงให้เปลวไฟสัมผัสกับน้ำมันบ่อยครั้ง เพราะจะทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็งและโรคหัวใจ
6. ทอดอาหารครั้งละไม่มากเกินไป ช่วยให้ความร้อนของน้ำมันกระจายอย่างทั่วถึง และใช้เวลาในการทอดอาหารน้อยลง
7. เมื่อเปลี่ยนน้ำมันที่ใช้ทอด ควรเทน้ำมันเก่าออกให้หมดไม่ควรเทน้ำมันใหม่ปนกับน้ำมันเก่า เพราะน้ำมันเก่าจะไปเร่งการเสื่อมสภาพของน้ำมันใหม่
8. ถ้าจำเป็นต้องนำน้ำมันพืชกลับมาใช้ซ้ำ น้ำมันต้องไม่มีกลิ่นหืน เหนียวข้น หรือมีสีดำ ที่สำคัญต้องต้องไม่มีเศษอาหารและไม่ควรใช้ซ้ำเกิน 2 ครั้ง เพื่อป้องกันสารก่อมะเร็ง
9. ควรใช้น้ำมันหลากชนิดหมุนเวียนสลับกันไป เพราะน้ำมันแต่ละชนิดมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป
10. เมื่อทอดอาหารเสร็จแล้ว ใช้กระดาษซับน้ำมันรองอาหารไว้ จะช่วยลดน้ำมันจากอาหารได้บ้าง
ต่อไปนี้ ก็น่าจะมั่นใจแล้วว่าจะเลือกใช้น้ำมันแบบไหนถึงจะทำให้อาหารอร่อย และปลอดภัยต่อสุขภาพ ห่างไกลจากตัวการร้าย ที่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาสุขภาพในอนาคต