แกะกลโกงก๊อบปี้บัตรเอทีเอ็ม
กลโกงของแก๊งนี้อยู่ที่ "สร้างบัตรใบใหม่ขึ้นมา" เพื่อไปกดเงินจากบัญชีของเรา ดังนั้น จึงต้องการ "ข้อมูล" ของเรา 2 อย่างก็คือ "ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของบัตร" เพื่อไปทำปลอมขึ้นมาใหม่ และ "รหัสบัตร" เพื่อสามารถเข้าถึงบัญชีเงินฝากของเราและทำคำสั่งเบิกถอนเงินได้
ฉะนั้น แก๊งเหล่านี้ก็จะทำ 2 อย่าง คือ ติด "อุปกรณ์คัดลอกข้อมูลบัตร" หรือเรียกว่า สกิมเมอร์ (Skimmer) ครอบหน้าช่องเสียบบัตรของตู้เอทีเอ็ม เมื่อเราเสียบบัตรเข้าไปตามปกติ อุปกรณ์นี้ก็จะคัดลอกข้อมูลซึ่งถูกเก็บอยู่ใน ìแถบแม่เหล็กî ด้านหลังของบัตร ก่อนจะส่งไปยังขบวนการในต่างประเทศเพื่อสร้างบัตรใบใหม่ขึ้นมา อีกอย่างหนึ่งก็จะติด ìกล้องขนาดเล็กî ไว้ตรงบริเวณตู้เอทีเอ็มด้วย เพื่อจับภาพการกด "รหัสบัตร"
เมื่อได้ 2 อย่างนี้ไปก็เรียบร้อยครับ เขาสามารถกดเงินออกจากบัญชีเราโดยตรง หรือจะโอนออกไปยังบัญชีปลายทางที่ต้องการ
ไทย คือประเทศเป้าหมายหลัก
ผู้บริหารแบงก์ท่านหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า จากคำสัมภาษณ์มิจฉาชีพที่เคยจับกุมได้ ระบุว่า ìไทยî คือหนึ่งในประเทศเป้าหมายหลักของการโจรกรรมลักษณะนี้ครับ เพราะเหตุผลเดียวก็คือ ìบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตî ที่ใช้ในไทยกว่า 57 ล้านใบนั้น เกือบ 98% ยังเป็นบัตรแบบ "แถบแม่เหล็ก" ซึ่งสามารถคัดลอกข้อมูลได้ง่าย และมีเพียงส่วนน้อยราว 2% เท่านั้นที่เป็นบัตรเดบิตแบบ "ชิปการ์ด" ซึ่งไม่สามารถคัดลอกข้อมูลด้วยเจ้าเครื่อง Skimmer
หากยังจำกันได้ เมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว ìบัตรเครดิตî ก็เคยเจอปัญหานี้เช่นกัน โดยเฉพาะการรูดชำระค่าน้ำมัน จากนั้นผู้ให้บริการบัตรเครดิตในไทยก็หันมาใช้ระบบชิปการ์ดกันหมดเพื่อ ป้องกันปัญหา ฉะนั้น ปัญหานี้จึงมาผุดที่บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตแทน
"ไทยยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังใช้บัตรแบบแถบแม่เหล็กอยู่ ก็ย่อมเป็นเป้าหมายจากมิจฉาชีพอยู่แล้ว ยิ่งประเทศเพื่อนบ้านเราเปลี่ยนไปใช้ชิปการ์ดกันหมด แก๊งเหล่านี้ก็ยิ่งพุ่งเป้ามายังไทยมากขึ้น"
นี่คือคำเตือนจากผู้บริหารแบงก์คนหนึ่งที่อยู่ในแวดวงพัฒนาบัตรมานับสิบปี
ขอความร่วมมือแบงก์ใช้ชิปการ์ด
ช่วง 3-4 เดือนหลังจากที่เป็นข่าวครั้งที่แล้ว ทางธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ก็ขอความร่วมมือกับบรรดาธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ให้เร่งพัฒนาระบบไปสู่การใช้ "ชิปการ์ด" มากขึ้น ตั้งเป้าหมายภายใน 2 ปีข้างหน้าต้องเริ่มต้นได้แล้ว
ในมุมของธนาคารพาณิชย์เองก็นับเป็นภาระไม่น้อยกับการลงทุนใหม่ ทั้งเปลี่ยนตู้เอทีเอ็มหลายหมื่นตู้ และบัตรอีกหลายสิบล้านใบ แม้แต่ "ธนาคารกรุงเทพ" ซึ่งเป็นรายเดียวในไทยเวลานี้ที่ให้บริการบัตรเดบิตแบบชิปการ์ด หลังจากทำมา 5-6 ปีแล้ว ก็ยอมรับว่าเพิ่งจะเปลี่ยนระบบตู้เอทีเอ็มให้รองรับชิปการ์ดได้ครบ 100% ในปีที่แล้ว ขณะที่ลูกค้าซึ่งใช้บัตรแบบชิปการ์ดก็ยังมีไม่มากนัก ประมาณ 1 ล้านใบ เทียบกับบัตรทั้งระบบดังกล่าวมาแล้วก็ยังน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม หลายแบงก์ก็พยายามพัฒนาระบบมาสกัดเรื่องนี้ครับ บางแบงก์พยายามติดตั้งระบบป้องกันที่ตู้เอทีเอ็ม บางแบงก์พยายามออกแบบตู้ให้ไม่สามารถนำเครื่อง Skimmer มาติดได้ง่ายๆ เป็นต้น แต่ก็อย่าลืมนะครับว่า โจรยุคนี้ก็พัฒนาได้เร็วไม่แพ้กัน สามารถสรรหาวิธีที่จะโจรกรรมได้แนบเนียนขึ้น และเร็วขึ้นเรื่อยๆ
วิธีใช้บัตรกดเงินอย่างปลอดภัย
แม้ธนาคารจะหามาตรการป้องกันปัญหานี้กันอย่างเต็มที่ แต่เงินของเรา ก็ต้องเป็น "เรา" ที่ต้องรู้จักป้องกันตัวเองกันก่อนครับ เพื่อมิให้มิจฉาชีพเหล่านี้ได้ข้อมูล 2 อย่างของเราไปได้ก็คือ ข้อมูลบัตร และรหัสผ่าน ซึ่งผมขอแนะนำวิธีการดังต่อไปนี้ครับ
- สังเกตถึงความผิดปกติของตู้เอทีเอ็มก่อนครับ ว่ามีอะไรผิดปกติไปจากที่ควรจะมีหรือเปล่า เช่น ฝาครอบจุดรับบัตร หรือกล้องตัวเล็กๆ ที่อาจแอบติดไว้ เป็นต้น รวมถึงถ้าเป็นไปได้ควรเลือกตู้เอทีเอ็มที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ดูปลอดภัยและ ถ้าเป็นตู้ที่เรากดประจำก็จะสังเกตความผิดปกติได้ง่ายที่สุด
- ขณะกดรหัสผ่าน ควรใช้มือหรืออุปกรณ์อื่นมาปิดให้มิดชิด ปกติผมจะใช้กระเป๋าสตางค์นี่แหละครับ กางออกแล้วคว่ำปิดมือเลย หรือถ้าถือหนังสือไปด้วยผมก็จะใช้หนังสือทั้งเล่มปิดเลยครับ พร้อมกับใช้ตัวบังมิให้คนด้านหลังหรือด้านข้างสังเกตเห็นด้วย ใครจะว่าเราโอเวอร์ก็ช่างเขาครับ นึกเอาไว้ "นี่เงินเรา"
- ควรเปลี่ยนรหัสเป็นระยะครับ และควรเป็นรหัสที่รู้คนเดียว ไม่ใช่รหัสที่เดาได้ง่ายเกินไป รวมถึงควรทำธุรกรรมการเงินด้วยตนเองครับ ไม่ควรให้คนอื่นไปทำแทน
-ข้อนี้แนะนำไว้เพิ่มเติม เพราะจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ก็คือ อาจสมัครบริการแจ้งเตือนความเคลื่อนไหวของบัญชีผ่าน SMS ซึ่งธนาคารจะคิดค่าบริการปีละ 150-200 บาท แต่หากเทียบแล้วเฉลี่ยต่อวันแล้วก็ยังไม่ถึง 1 บาทด้วยซ้ำนะครับ เงินเข้า-เงินออก ก็รู้ได้ทันทีตลอดเวลา โดยเฉพาะคนที่ใช้บริการอินเตอร์เน็ตแบงกิ้งและโมบายแบงกิ้ง ผมแนะนำครับ อุ่นใจดี นอกจากนี้ก็อาจเปลี่ยนมาใช้บัตรเดบิตแบบ "ชิปการ์ด" แทนครับ แต่มีข้อจำกัดนิดหน่อยตรงที่มีเฉพาะธนาคารกรุงเทพเท่านั้น และทำธุรกรรมได้ที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงเทพเท่านั้นด้วย ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 8,300 ตู้ทั่วประเทศ ช่วงนี้ธนาคารก็พยายามโปรโมตให้ลูกค้าหันมาใช้บัตรนี้แทน โดยคิดค่าธรรมเนียมเท่าบัตรเดบิตปกติครับ
ทุก "ความสะดวกสบาย" ก็เป็นเรื่องปกติที่จะตามมาด้วย "ต้นทุน" เสมอ ไม่ว่าจะเป็นในรูป "ความเสี่ยง" หรือ "ค่าใช้จ่าย" บางอย่าง แม้โลกนี้ไม่มีอะไรฟรีครับ แต่เราสามารถอยู่อย่างมีความสุขได้เสมอครับ
ที่มา นิตยสารเส้นทางเศรษฐี

Love Attack เทศกาลความรักแบบนี้ บอกอ้อมๆให้เขารู้กัน
Chocolate Dreams สาวชั่งฝันและช็อคโกแลต กับหนุ่มหล่อ ไม่แน่คุณอาจจะได้เจอแบบนี้ก็ได้
Love You Like Crazy เพลงเพราะๆ ที่ถ้าส่งให้คนที่เรารัก โลกนี้ก็สีชมพูกันทีเดียว