ได้เห็นความแตกแยกทะเลาะเบาะแว้งของผู้คนในประเทศในช่วงที่ผ่านมาแล้วกลับมาคิดดูอีกที ที่จริงแล้วถึงแม้จะไม่มีเหตุการณ์บ้านเมืองมาเป็นปัจจัยก็ตาม แต่ในชีวิตประจำวันของการอยู่ร่วมกัน การมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันในสังคมเล็กๆ ย่อยๆ เราต่างคนต่างก็มีเรื่องให้กระทบกระทั่งผิดใจกันได้ไม่ยากในทุกๆ วันอยู่แล้วนะครับ
บ้างคนนี้ก็เข้าใจผิดคนโน้น บ้างคนโน้นก็ไม่พอใจคนนี้ บ้างคนนี้ก็พูดจาไม่เข้าหูคนนั้น บ้างคนนั้นก็ไม่ยอมคนโน้น ฯลฯ จนบางทีที่เคยเห็นเดินกอดคอกันอยู่ ก็พลอยโกรธขึ้งมึนตึงต่อกันไปได้ง่ายดาย ทั้งที่บางเรื่องอาจเป็นเพียงน้ำผึ้งหยดเดียวเท่านั้นเอง แต่สำหรับบางคนเรื่องเล็กๆ น้อยๆ บางเรื่อง ก็กลับเป็นเรื่องที่ยากจะอภัยต่อกัน
พระอาจารย์พรหม วังโส เจ้าอาวาสวัดป่าโพธิญาณ ประเทศออสเตรเลีย เคยเล่าเรื่อง "อิฐสองก้อน" ไว้ในหนังสือ "ชวนม่วนชื่น" ไว้อย่างน่าฟังทีเดียว พูดถึงเรื่องนี้แล้วก็เลยอยากนำมาเล่าให้คุณผู้อ่านที่ยังไม่เคยอ่านได้ฟังกันดูนะครับ
พระอาจารย์พรหมท่านเล่าว่า ตอนที่ท่านเริ่มสร้างวัดจากที่ดินเปล่าๆ ผืนหนึ่ง การก่อสร้างนั้นช่างยากเย็น แม้แต่การก่อกำแพงอิฐที่ดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ แค่โปะปูนลงไปแล้ววางก้อนอิฐ แตะด้านนี้ที ด้านนั้นที ให้เข้าที่ ก็น่าจะใช้ได้แล้ว
แต่ความจริง...ตอนเริ่มก่ออิฐใหม่ๆ แตะกดมุมหนึ่ง อีกมุมหนึ่งก็กลับยกขึ้น พอกดด้านที่ยกให้ลงมา อิฐก็เริ่มแตกแนว พอดันกลับเข้าที่ มุมแรกก็สูงเกินไปอีก แต่ท่านก็อดทนก่อกำแพงอิฐนี้อย่างไม่สนใจว่าจะต้องใช้เวลายาวนานสักเท่าใด เพื่อจัดเรียงอิฐทุกก้อน ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และถูกวางไว้โดยสมบูรณ์ที่สุด
จนกระทั่ง กำแพงอิฐแผงแรกสำเร็จลงด้วยดี ท่านก้าวถอยหลังออกมาเพื่อชื่นชมผลงานนั้น แต่แล้ว...ก็กลับสังเกตเห็นว่ามีอิฐอยู่สองก้อนที่ทำมุมเอียงกับแนวอิฐก้อนอื่นๆ ทำให้กำแพงทั้งแผงมีตำหนิและดูไม่สวยงามเลย แต่ถึงเวลานั้นปูนก็แข็งเกินกว่าที่จะดึงอิฐสองก้อนนั้นมาเรียงใหม่ได้แล้ว
พระอาจารย์พรหมท่านรู้สึกอับอายอย่างยิ่งที่กำแพงมีความน่าเกลียด ไม่สวยงาม จึงขออนุญาตท่านเจ้าอาวาสทุบทิ้งเพื่อที่จะสร้างใหม่ แต่ท่านเจ้าอาวาสไม่อนุญาต นับตั้งแต่นั้น เมื่อมีแขกมาเยี่ยมชมวัด พระอาจารย์พรหมก็มักจะพาผู้ที่มาเยี่ยมชม เดินเลี่ยงกำแพงแถบนั้น และดึงความสนใจไปที่ส่วนอื่นๆ เสมอๆ
จนกระทั่ง ๓ เดือนต่อมา มีผู้มาเยี่ยมชมวัดคนหนึ่งเห็นกำแพงนั้นเข้า และเอ่ยกับท่านว่า
"กำแพงนี้สวยดีนี่"
"คุณลืมแว่นสายตาไว้ในรถหรือเปล่า คุณไม่เห็นหรือว่ามีอิฐ ๒ ก้อน ที่ก่อผิดพลาด จนกำแพงดูไม่ดี"
"ใช่... ผมเห็นอิฐสองก้อนนั้น" ชายผู้นั้นตอบ
"แต่ผมก็เห็นด้วยว่ามีอิฐอีก ๙๙๘ ก้อนก่อไว้เป็นระเบียบสวยงามมาก"
พระอาจารย์พรหมถึงกับอึ้ง...เป็นครั้งแรกในรอบ ๓ เดือน ที่ท่านสามารถมองเห็นอิฐก้อนอื่นๆ บนกำแพง ที่ผ่านมา นอกเหนือจากอิฐ ๒ ก้อนที่เป็นปัญหา ตาของท่านมืดบอดต่อสิ่งอื่นทั้งหมด
ทั้งที่จริง อิฐทุกก้อน ทุกตำแหน่ง นอกจากอิฐ ๒ ก้อนนั้น ล้วนก่อไว้อย่างดีไม่มีที่ติ ยิ่งไปกว่านั้น จำนวนอิฐที่ดีก็มีมากกว่าอิฐไม่ดี ๒ ก้อนนั้นด้วย ท่านอยากทลายกำแพงลง เพราะมองเห็นแต่อิฐ ๒ ก้อนที่ผิดพลาด
ทันทีที่ความรู้สึกเปิดกว้าง มองเห็นอิฐก้อนดีๆ จำนวนมากบนกำแพงนี้ กำแพงเดิมที่อยากทลายลงก็กลับงดงามขึ้นมาทันที
"ใช่... กำแพงนี้สวยดี" พระอาจารย์พรหมหันไปเปรยกับชายผู้มาเยี่ยมชมคนนั้น นับแต่นั้น เมื่อท่านมีสายตาที่สามารถมองเห็นอิฐดีๆ ได้แล้ว กำแพงนี้ก็ไม่น่าเกลียดสำหรับท่านอีกต่อไป…
เช่นเดียวกัน เราทุกคนต่างก็มีอิฐ ๒ ก้อนนั้นอยู่ในตัวเองกันทั้งนั้น ไม่มีใครหรอก ที่จะดีร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือเลวร้ายร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่าว่าแต่ใครเลย ตัวเราเองนี่แหละ คนเดียวกัน วันเดียวกันแท้ๆ ยังแกว่งขึ้นแกว่งลง เป็นคนดีบ้าง เป็นคนน่าเกลียดบ้าง สลับกันไปได้ทั้งวัน
หลายคน ตัดสัมพันธ์กับคนเคยที่เคยใกล้ชิดและปรารถนาดีต่อกันมา เพราะเพ่งมองแต่อิฐที่ไม่ดี ๒ ก้อนในคนเหล่านั้น หากเราหันมามองผู้คนรอบข้างด้วยสายตาที่เมตตาต่อกันมากขึ้น ไม่ให้เรื่องลบเพียงหนึ่งหรือสอง มาทำลายความสวยงามที่เคยมีต่อกันถึงร้อยถึงพัน ขัดแย้งกันอย่างไร เปิดใจคุยกันด้วยเหตุด้วยผล ผิดพลาดอย่างไร น้อมรับไปปรับปรุง และให้อภัยต่อกัน
แม้กำแพงนั้นจะมีตำหนิอย่างไร มันก็จะยังคงตระหง่านสวยงาม และคุ้มภัยให้กันและกันได้เสมอ ที่จริงไม่เท่าไหร่เราก็ตายจากกันอยู่แล้ว การที่จะได้อยู่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันนั้น เอาเข้าจริงก็ไม่ได้นานสักเท่าไหร่หรอก
อิฐแค่ ๒ ก้อนไม่ได้มีค่าควรแก่การนำมาเป็นสาระยึดถืออะไรในชีวิตเลย ทั้งเรา ทั้งคนอื่น ทุกคน ต่างก็ล้วนเป็นผู้ที่ยัง "ต้องขัดเกลา" ด้วยกันทั้งสิ้น ขอเพียงพร้อมปรับปรุงตน พร้อมให้โอกาส และพร้อมให้อภัย ทั้งต่อผู้อื่น และต่อตัวเอง เราต่างคนต่างก็จะได้พัฒนาจิตใจของตัวเราเองไปพร้อมๆ กันด้วย
สุดท้ายแล้ว...กำแพงก็อาจจะไม่สวยสักหน่อย และอาจจะไม่มีวันสวยขึ้นเลยก็ได้ แต่เชื่อเลยว่า ผู้คนรอบรั้วกำแพงน่าจะดูมีความสุขกว่ากันเป็นกอง ว่าไหมครับ : )