ทุกวันนี้เราใช้การสื่อสารด้วยภาษากายกว่า 80% และใช้คำพูดเพียงแค่ 20% เท่านั้น! ถ้าคุณใช้ภาษากายเป็นรับรองว่าโดดเด่นเป็นซูเปอร์สตาร์ในที่ทำงานแน่นอน
ภาษากาย หรือ Body Language เป็นการสื่อสารอย่างหนึ่ง นอกเหนือจากการพูดและน้ำเสียง จะว่าไปแล้วก็สำคัญมากๆ เลยล่ะที่จะทำให้การสื่อสารยิ่งมีประสิทธิภาพ และทำให้ผู้ฟังรู้สึกประทับใจไม่น้อยกว่าคำพูด หากรู้จักผนวกกำลังสองแบบนี้ ธุรกิจการงานไหนๆ ก็ยิ่งประสบความสำเร็จ
Key 1 Smiling
ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานการณ์น่าอึดอัด อย่างเพิ่งเข้าทำงานวันแรก เจอลูกค้าอารมณ์บูด หรือจะพรีเซนต์งาน รอยยิ้มคือสิ่งที่ต้องมีติดอยู่บนใบหน้าไว้เสมอ เพราะจะทำให้คนที่เห็นรู้สึกได้ทันที ว่าคุณเป็นมิตรและเกิดความประทับใจตั้งแต่แรกพบ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมาก จากคำว่า ‘ความประทับใจแรกพบ’ ก็บ่งบอกแล้วว่าคุณจะไม่มีโอกาสเป็นครั้งที่สอง
Key 2 Eye Contact
คนไทยหลายคนชอบหลบตาเวลาที่พูดกับคนที่เป็นเจ้านาย หรือผู้มีอาวุโสมากกว่า ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องดีเลย
“การสบตากับคนที่คุณกำลังพูดด้วยจะทำให้เขารู้สึกว่าคุณจริงใจ ไม่มีอะไรหลบซ่อน และทำให้เขาเห็นว่าคุณกำลังฟังและสนใจสิ่งที่เขาพูดอยู่” คุณอลิสา โลหิตนาวี อธิบาย
“แต่วิธีการมองก็ต้องมีเทคนิค คือไม่ใช่จ้องเขม็งอยู่ที่หน้าเขาอย่างเดียว ต้องมีการละสายตาไปจุดอื่นบ้างในช่วงเวลาที่เหมาะสม”
Key 3 Gesture
“เคยดูประธานาธิบดีโอบามาหรือบุคคลสำคัญอื่นๆ เวลายืนพูดบนโพเดียมมั้ยคะ? จะสังเกตได้เลยว่าเขาจะยกมือให้เราเห็นตลอดเวลา” ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษากายยกตัวอย่าง
“การใช้มือประกอบการสื่อสารนอกจากจะเป็นการสื่อความหมายให้คนอื่นเข้าใจได้ง่ายขึ้นแล้ว ในทางจิตวิทยานี่ยังเป็นการสื่อว่า คุณไว้วางใจได้ไม่มีอาวุธแอบซ่อนหรือมีอะไรปิดบังเอาไว้อีกด้วย”
ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นไปเรียนภาษามือมาใช้อธิบายคำพูดทุกคำ (อันนั้นก็เยอะเกินไป) แค่เรียนรู้ที่จะแสดงท่าทางประกอบบ้างในจังหวะที่พอดีเท่านั้นก็พอ
Key 4 Posture
การยืน การเดิน การนั่ง พวกนี้คือสิ่งที่ต้องฝึกทั้งหมด เพราะบุคลิกภาพเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะหากคุณมุ่งหวังจะก้าวหน้าไปในตำแหน่งที่สูงขึ้น
“กิริยาพวกนี้บอกอะไรได้หลายอย่าง เช่น ถ้าคุณเข้าไปในห้องเจ้านายแล้วเดินหลังงุ้ม ไหล่ตก คอตก ออกมา ทุกคนจะรู้ทันทีเลยว่าคุณเจอปัญหาแน่ๆ ดังนั้นพยายามยืดหลังเข้าไว้ค่ะ” คุณอลิสาแนะนำ
Key 5 Personal Space
กุญแจดอกสุดท้ายนี้ถือเป็นเรื่องที่ยากที่สุด สำหรับคนไทยเราเลยก็ว่าได้ เพราะวัฒนธรรมเราไม่ได้มีการฝึกเรื่องพวกนี้มาก่อน
“คุณอาจมองว่าเรื่องระยะห่างระหว่างบุคคลนี้มาเกี่ยวอะไรกับเรื่องภาษากาย แต่เวลาเราเห็นคนสองคนคุยกัน 70% เราสามารถบอกได้เลยว่าเขาสนิทกันมั้ย ใครอาวุโสกว่าใคร เพราะระยะห่างของการยืนจะแตกต่างกัน”
“สิ่งที่คุณต้องรู้ เมื่อนำมาใช้กับตัวเองก็คือ เวลาพูดคุยกับใคร คุณควรจะเว้นระยะห่างแค่ไหนถึงจะพอดี ซึ่งเรื่องนี้เอาไม้บรรทัดมาวัดไม่ได้ และที่สำคัญระยะห่างที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงระยะห่างทางกายภาพเท่านั้น แต่รวมไปถึงสายตาน้ำเสียง และเวลาส่วนตัวของแต่ละคนด้วย พูดง่ายๆ ก็คือเรื่องของการวางตัวให้เหมาะสมและรู้จักกาลเทศะนั่นเอง”
Let’s Practice!
อยากเก่งภาษากายก็ต้องหมั่นฝึกซ้อมบ่อยๆ เช่น ฝึกซ้อมหน้ากระจกก่อน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือควรเป็นธรรมชาติเป็นตัวของตัวเองและมีความจริงใจเป็นที่ตั้ง