เคยสงสัยกันไหมว่า ไข่ที่เรากินนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วทำไมแม่ไก่ถึงได้ออกไข่ทุกวัน แล้วทุกใบต้องได้รับการผสมพันธุ์จากพ่อไก่ก่อนหรือเปล่า?
สำหรับคนชื่นชอบเมนูไข่ โดยเฉพาะไข่ไก่อาจจะเคยตั้งข้อสงสัยว่า “ไข่” ที่เรากินกันอยู่ทุกวันนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วทำไมแม่ไก่ตามฟาร์มเลี้ยงถึงขยันออกไข่ได้ทุกวัน
ธรรมชาติของไก่ตัวเมียเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์จะมีการตกไข่ทุกตัว เพียงแต่วงจรการตกไข่ของไก่นั้นจะบ่อยกว่ามนุษย์สูงสุดวันละ1ฟอง เซลล์ไข่ (oocyte) จะถูกสร้างขึ้นในรังไข่ข้างซ้าย ซึ่งอยู่รวมกับไข่แดงที่ถูกหุ้มด้วยเยื่อหุ้มที่เป็นโปรตีน จากนั้นจะเคลื่อนตัวไปยังท่อนำไข่ส่วนต้น (infundibulum) ของท่อรังไข่และหยุดอยู่ที่ตรงนี้ประมาณ20นาที เพื่อรอการปฏิสนธิจากเชื้ออสุจิ ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิและกลายเป็นคัพภะ (embryo)
แต่ถ้าไม่ได้รับการปฏิสนธิไข่จะเคลื่อนที่ลงไปตามท่อนำไข่ส่วนกลาง (magnum) ไข่ขาว (albumen) จะเกิดขึ้นรอบๆ ไข่แดง และในส่วนท่อนำไข่ส่วนปลาย (isthmus) เยื่อหุ้มเปลือกและเปลือกจะถูกสร้างขึ้นและกำหนดรูปร่างไข่ออกมา ไข่ที่สมบูรณ์จะเคลื่อนที่ผ่านช่องคลอดของแม่ไก่ (vagina) และออกมาจากส่วนทวารของไก่ในที่สุด ไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์หากได้รับการฟักครบ21วันก็จะกลายเป็นลูกเจี๊ยบ ส่วนไข่ที่ไม่ได้ผสมพันธุ์จะเรียกว่า “ไข่ลม” ก็คือไข่ไก่ที่เราใช้บริโภคกันอยู่ทุกวันนี้
ส่วนคุณค่าทางโภชนาการ “ไข่ไก่” ประกอบไปด้วย กรดอะมิโนจำเป็นทุกชนิด, วิตามิน, เกลือแร่, เรตินอล (วิตามินเอ), ไรโบฟลาวิน(วิตามินบี2), กรดโฟลิก(วิตามินบี9), วิตามินบี6, วิตามินบี12, โคลีน, เหล็ก, แคลเซียม, ฟอสฟอรัส, โพแทสเซียม และโปรตีน
“ไข่ไก่” จึงเป็นอาหารสำคัญต่อพัฒนาการของสมองของบุคคลทั่วไปโดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ หญิงในนมบุตร และเด็กเล็ก
ส่วนข้อควรระวัง เราไม่ควรกินไข่ดิบ เพราะในไข่ดิบอาจจะมีเชื้อโรค และไข่ขาวดิบยังย่อยยากอีกด้วย หากเรากิน ไข่ขาวดิบเข้าไป มันจะผ่านกระเพาะอาหารและลำไส้ไปโดยไม่ได้ย่อย ร่างกายก็ไม่สามารถดูดซึม สารอาหารต่าง ๆ ได้ หากจะกินไข่ลวกควรลวกให้ไข่ขาวสุกเสียก่อน
อ่านจบแล้วเรามาทานไข่กันเถอะ
เดลินิวส์ออนไลน์